ตรวจเช็กสุขภาพดูแลกายใจทุกช่วงชีวิต
เคล็ดลับของการมีสุขภาพดีอายุยืนยาว ไม่เพียงแต่กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ แต่การตรวจเช็กสุขภาพก็สำคัญไม่แพ้กัน เพราะช่วยให้รู้เท่าทันป้องกันโรค รักษาสุขภาพให้แข็งแรง และฟื้นฟูร่างกายได้ในทุกช่วงชีวิต
ตรวจสุขภาพป้องกันโรคได้อย่างไร
การตรวจสุขภาพทั้งทางร่างกายและจิตใจอย่างละเอียดพร้อมกับประเมินพฤติกรรมการใช้ชีวิต ไม่เพียงช่วยประเมินสุขภาพ แต่ยังช่วยให้วางแผนดูแลสุขภาพเพื่อป้องกันโรคได้อย่างตรงจุด ยิ่งในโรคที่ไม่แสดงอาการ การตรวจสุขภาพประจำปีมีความสำคัญมาก เพราะช่วยให้ค้นเจอความผิดปกติตั้งแต่แรกเริ่ม คัดกรองภัยเงียบที่อาจไม่เคยรู้มาก่อน ทำให้ระวังและดูแลสุขภาพได้อย่างเหมาะสมก่อนสายเกินไป
ตรวจสุขภาพดูแลรักษาโรคได้อย่างไร
หากมีอาการเจ็บป่วย มีโรคประจำตัว หรือโรคเรื้อรัง การตรวจสุขภาพช่วยควบคุมโรค ทำให้ปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องตามคำแนะนำของแพทย์ ลดความรุนแรงจากความเจ็บป่วยที่มีและโรคที่กำลังเผชิญ เพิ่มโอกาสในการหาย ลดภาวะแทรกซ้อนที่จะเกิดขึ้น ทั้งยังช่วยติดตามดูแลสุขภาพได้อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะในผู้ที่มีพฤติกรรมทำร้ายสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ กินอาหารไขมันสูง ขาดการออกกำลังกาย เครียด ฯลฯ
ตรวจสุขภาพฟื้นฟูร่างกายได้อย่างไร
ในผู้ที่หายจากความเจ็บป่วย การตรวจสุขภาพเป็นประจำช่วยให้วางแผนดูแลสุขภาพได้อย่างถูกต้องในระยะยาว ช่วยฟื้นฟูร่างกายให้แข็งแรง โดยอาจมีการตรวจเช็กสุขภาพเชิงลึกเพิ่มเติมตามคำแนะนำของแพทย์ เช่น ผู้ป่วยมะเร็งหรือผู้ป่วยโรคหัวใจที่รักษาจนหายและกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ การตรวจสุขภาพนอกจากช่วยให้ทราบความแข็งแรงของร่างกาย ยังทำให้ปรับพฤติกรรมสุขภาพที่ช่วยฟื้นฟูร่างกายได้เหมาะกับแต่ละบุคคล
ตรวจสุขภาพทุกจังหวะชีวิตเป็นอย่างไร
- Pre – Check Up
ถึงเวลาตรวจสุขภาพในแต่ละช่วงวัยเพื่อคัดกรองโรคเบื้องต้น ประเมินความเสี่ยง หากพบความเสี่ยงโรคร้ายจะได้วางแผนการตรวจสุขภาพได้อย่างเหมาะสม เพื่อรับมือก่อนที่จะป่วยหนัก การตรวจสุขภาพประจำปีจึงเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจ - Check Up
ตรวจเช็กสุขภาพในแบบที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ เพื่อให้ตรวจได้ลึกและตรงจุดยิ่งขึ้น เช่น ผู้ที่มีภาวะอ้วน ควรตรวจความเสี่ยงโรคเบาหวานและโรคมะเร็งเพิ่มเติม ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์บ่อยควรตรวจการทำงานของตับ เป็นต้น - Post – Check Up
หลังตรวจสุขภาพแล้วแพทย์ให้ปรับพฤติกรรมเพื่อให้สุขภาพดียิ่งขึ้นกว่าเดิม ควรกลับมาตรวจติดตาม (Follow Up) ตามนัดหมายของแพทย์ เพื่อป้องกันความรุนแรงในอนาคต เช่น ไขมันในเลือดสูงเกินเกณฑ์ แพทย์ให้ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย หรือรับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง แล้วกลับมาพบแพทย์ตามนัดอีกครั้ง เป็นต้น
เตรียมตัวก่อนตรวจสุขภาพอย่างไร
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6 ชั่วโมง การอดนอนจะทำให้ผลการตรวจคลาดเคลื่อน
- งดอาหารและเครื่องดื่มอย่างน้อย 8 – 10 ชั่วโมงก่อนตรวจ แต่จิบน้ำเปล่าได้เล็กน้อย
- งดดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนตรวจ
- สวมเสื้อผ้าที่สะดวกต่อการเจาะเลือด
- ผู้หญิงควรงดตรวจปัสสาวะในช่วงที่มีประจำเดือนและไม่ควรตรวจช่วงก่อนและหลังมีประจำเดือน 7 วัน
- ผู้หญิงที่มีประจำเดือนควรงดตรวจดิจิทัลแมมโมแกรมเพื่อคัดกรองมะเร็งเต้านม เพราะเต้านมคัดตึง
ในแต่ละช่วงวัยควรตรวจสุขภาพอย่างไร
การตรวจสุขภาพสามารถตรวจได้ตั้งแต่เด็กไปจนสูงวัย แต่ส่วนใหญ่จะตรวจเมื่ออายุ 20 ปีขึ้นไป ซึ่งแต่ละช่วงวัยความเสี่ยงสุขภาพจะแตกต่างกัน ยิ่งอายุมาก ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น ยิ่งมีรายละเอียดการตรวจมากขึ้น อย่างในผู้หญิงเมื่ออายุ 30 ปีขึ้นไปควรตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และเมื่ออายุ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ส่วนในผู้ชายเมื่ออายุ 50 ปีขึ้นไปควรตรวจคัดกรองมะเร็งต่อมลูกหมาก และทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เมื่ออายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไปควรตรวจอัลตราซาวนด์เพื่อคัดกรองความผิดปกติของอวัยวะในช่องท้อง และในผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้วควรตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก
นอกจากนี้สามารถตรวจเช็กสุขภาพให้สอดคล้องกับพฤติกรรมการใช้ชีวิตเพื่อป้องกันโรคในอนาคต เช่น ผู้ที่ชอบกินอาหารไขมันสูง ควรต้องเช็กระดับไขมันในเลือดสม่ำเสมอ ผู้สูงวัยที่ความเสื่อมเริ่มมาเยือน หากสังเกตตนเองแล้วเกิดความผิดปกติควรรีบพบแพทย์ เช่น กระดูกผิดปกติต้องรีบเช็กทันที เป็นต้น
แพทย์ที่ชำนาญการตรวจสุขภาพ
นพ.ชัยรัฏฐ์ ศรีภิรมย์ แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ครอบครัว เฮลท์ดีไซน์เซ็นเตอร์ โรงพยาบาลกรุงเทพ
โรงพยาบาลที่ชำนาญการตรวจสุขภาพ
HEALTH DESIGN CENTER โรงพยาบาลกรุงเทพ พร้อมดูแลสุขภาพของคุณและให้คำแนะนำที่ครอบคลุมทุกการดูแลสุขภาพ เพื่อให้ทุกคนมีสุขภาพดีได้ทุกช่วงชีวิต
ข้อมูลโดย
นพ. ชัยรัฏฐ์ ศรีภิรมย์
เวชศาสตร์ครอบครัว
โรงพยาบาลกรุงเทพ