4 โรคไม่ใช่มะเร็ง แต่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม

ฟอกอ

คุณผู้หญิงที่มีสุขภาพดี ไม่ควรมีอาการผิดปกติใด ๆ ขณะมีระดู แม้บางท่านอาจจะมีอาการปวดท้องน้อยขณะมีระดูได้บ้าง แต่ไม่ควรรุนแรงมากมายนัก
 

แต่ถ้าคุณผู้หญิงมีอาการเหล่านี้

  1. อาการปวดระดูจนต้องนอนพัก หยุดงาน หรือต้องรับประทานยาแก้ปวด หรือมีอาการปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ร่วมด้วย
  2. มีระดูมาก อาจมีอาการอ่อนเพลียหรือซีดร่วมด้วย
  3. ปัสสาวะบ่อย จนในยามค่ำคืนต้องลุกมาถ่าย 2 – 3 ครั้ง
  4. ปวดท้องน้อยเฉียบพลัน ปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ และอาจจะปวดมากขึ้นถ้านอนหรือนั่งในบางท่า

 

“อย่าได้นิ่งนอนใจ! เพราะนั่นหมายถึงว่า คุณอาจมีโรคใดโรคหนึ่งที่จำเป็นต้องรักษา”

 

1) โรคเนื้องอกมดลูก 

โรคเนื้องอกมดลูกเป็นโรคที่พบบ่อยที่สุดของคุณผู้หญิง เซลล์กล้ามเนื้อบางตำแหน่งแบ่งตัวและเจริญจนเป็นก้อนแทรกในชั้นกล้ามเนื้อ เรายังไม่ทราบสาเหตุของโรคนี้ แต่พันธุกรรมน่าจะมีส่วนเกี่ยวข้อง บางครอบครัวเป็นทุกคนตั้งแต่แม่และลูกสาวทุกคน แม้จะไม่ใช่โรคร้าย แต่คุณผู้หญิงบางรายอาจจะมีอาการรุนแรงได้ อาการต่าง ๆ ของโรคนี้ขึ้นอยู่กับตำแหน่งของเนื้องอก   

คุณผู้หญิงจะรู้สึกอ่อนเพลียและเหนื่อยง่ายจากภาวะซีด

  • เนื้องอกที่อยู่ใต้เยื่อบุโพรงมดลูก จะทำให้ระดูออกมากและมีระดูหลายวัน
  • เนื้องอกที่อยู่ด้านหน้าใต้กระเพาะปัสสาวะ จะกดกระเพาะปัสสาวะ ทำให้มีอาการปัสสาวะบ่อย บางรายอาจมีอาการปัสสาวะลำบาก
  • เนื้องอกที่อยู่ด้านหลัง จะกดลำไส้ใหญ่จนเกิดอาการท้องผูก
  • เนื้องอกที่ขยายไปทางด้านข้าง อาจจะไปกดท่อไตมีผลทำให้การทำงานของไตเสียได้
  • เนื้องอกที่ด้านบนของมดลูก ส่วนใหญ่จะไม่มีอาการและตรวจพบเมื่อก้อนมีขนาดใหญ่มากแล้ว

2) ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่และช็อกโกแลตซีสต์

ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่พบได้บ่อยมากในสตรีวัยเจริญพันธุ์ โรคนี้เกิดมากับเลือดระดู ร้อยละ 90 ของสตรีจะมีเลือดไหลย้อนเข้าสู่อุ้งเชิงกรานขณะมีระดู เซลล์ของเยื่อบุโพรงมดลูกของคุณผู้หญิงบางท่านไม่ตาย จะเจริญต่อไปจนเกิดเป็นภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ในอุ้งเชิงกราน ประมาณว่า ร้อยละ 10 ของคุณผู้หญิงวัยนี้จะเป็นโรคนี้ เหตุผลเพราะว่าคุณผู้หญิงในปัจจุบันมีระดูเร็วและมีระดูนาน กว่าจะแต่งงานและมีลูกก็มีระดูไม่น้อยว่า 10 – 20 ปี โอกาสเป็นโรคนี้จึงมีมาก ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ทำให้เกิดพังผืดในอุ้งเชิงกรานต่อมาเกิดถุงน้ำเล็ก ๆ ที่มีของเหลวเหมือน Chocolate ค่อย ๆ เบียดเนื้อรังไข่ และขยายใหญ่จนเป็นถุงน้ำขนาดใหญ่ขึ้นเป็นช็อกโกแลตซีสต์ (Chocolate Cyst) โรคเหล่านี้มีอาการปวดระดูมากเป็นอาการสำคัญ เมื่อเป็นมากขึ้นจะมีอาการปวดขณะมีเพศสัมพันธ์ ปวดเรื้อรังที่มีอาการปวดทุกวันเป็นเวลานาน ถ้าโรคกระจายไปกระเพาะปัสสาวะหรือลำไส้ใหญ่จะมีอาการถ่ายปัสสาวะหรืออุจจาระปนเลือด บางรายอาจมีอาการของลำไส้แปรปรวนได้ คุณผู้หญิงจำนวนมากที่มีโรคนี้จะมีภาวะมีบุตรยากด้วย

 

3) ถุงน้ำหรือซีสต์ที่รังไข่ (Ovarian Cyst) 

ถุงน้ำที่รังไข่เป็นถุงน้ำที่เกิดจากเซลล์ในรังไข่เอง ถุงน้ำรังไข่แบบนี้ที่สำคัญพบได้ 2 ชนิด คือ

  1. ถุงน้ำที่เกิดจากเซลล์ผิวของรังไข่ (Epithelial Cell)
  2. ถุงน้ำที่เกิดจากเซลล์ผิวหนัง (Dermoid Cyst)

โดยทั่วไปในระยะแรกจะไม่มีอาการ แต่ถุงน้ำจะค่อย ๆ ใหญ่ขึ้น เมื่อถุงน้ำใหญ่ขึ้นจนแกว่งตัวได้ ก็มีโอกาสบิดขั้วที่รังไข่ของคุณผู้หญิงได้ จะเกิดอาการปวดท้องน้อยเฉียบพลัน ในระยะแรกจะปวดเป็นพัก ๆ และอาการปวดหายไปได้ ถ้าการบิดขั้วหมุนกลับไปสู่ตำแหน่งปกติ แต่อาการปวดจะรุนแรงขึ้นจนกระทั่งปวดไปทั่วท้อง เมื่อการบิดขั้วรุนแรงมากจนทำให้รังไข่คั่งเลือด ในระยะนี้คุณผู้หญิงจะปวดมากจนทนอาการปวดไม่ไหวต้องมาพบแพทย์แบบฉุกเฉิน

 

4) โรคมดลูกโตจากเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Adenomyosis)

โรคนี้ยังไม่มีชื่อเฉพาะในภาษาไทย ชื่อในภาษาอังกฤษคือ Adenomyosis เป็นโรคที่มีเซลล์ของเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญในชั้นกล้ามเนื้อของมดลูก (คล้ายกับภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ที่เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกไปเจริญในอุ้งเชิงกราน) เซลล์เยื่อบุโพรงมดลูกจะเจริญและสลายตามรอบระดู

ขณะมีระดูเซลล์เหล่านี้จะสลายเกิดการอักเสบในชั้นกล้ามเนื้อ กระตุ้นให้เกิดการบีบรัดตัวของมดลูก ทำให้เกิดอาการปวดระดู หลังหมดระดูเกิดพังผืดในบริเวณชั้นกล้ามเนื้อนี้ ภาวะนี้เกิดซ้ำ ๆ ในแต่ละรอบระดู ทำให้มดลูกใหญ่ขึ้นเป็นรูปทรงกลมและอาการจะรุนแรงขึ้นได้ นอกจากคุณผู้หญิงจะมีอาการปวดระดูแล้ว ระดูมามากก็เป็นอาการที่พบบ่อยร่วมด้วย ในรายที่รุนแรงจะมีอาการปวดเรื้อรัง ปวดหน่วง หรืออาการปวดคล้ายปวดระดูเกือบทุกวัน

แม้จะไม่ใช่โรคร้ายหรือมะเร็ง แต่โรคทั้ง 4 ตามที่กล่าวมาข้างต้น สามารถก่อให้เกิดอาการที่มีผลต่อสุขภาพในระดับต่าง ๆ บางกรณีคุณผู้หญิงอาจไม่มีอาการ แต่มีการเปลี่ยนแปลงที่ก่อให้เกิดต่ออันตรายต่อสุขภาพอย่างมากได้ในภายหลัง

ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติเพียงข้อหนึ่งข้อใดควรพบสูติ-นรีแพทย์ หรือแม้ว่าไม่มีอาการผิดปกติใด ๆ ก็ควรตรวจสุขภาพทุกปี และด้วยการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงร่วมกับการตรวจภายใน ในการตรวจหาภาวะหรือโรคดังกล่าว คุณผู้หญิงจึงไม่มีความเจ็บปวด สบายใจในการตรวจได้

 

แนวทางรักษาโรค

แนวทางการรักษาโรคทั้ง 4 นั้นจะใช้การผ่าตัดรักษา เช่น การเลาะถุงน้ำ การเลาะเนื้องอกมดลูก การตัดรังไข่ และการตัดมดลูก โดยการผ่าตัดแต่ละชนิดขึ้นอยู่กับชนิดของโรค อายุของคุณผู้หญิงและความต้องการการมีบุตรในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น ถ้าคุณผู้หญิงอายุพอสมควร (วัย 40 ปีหรือกว่านั้น) เป็นเนื้องอกมดลูก การตัดมดลูกเป็นการผ่าตัดที่เหมาะสม แต่ถ้าอายุยังน้อย (30 กว่าปีหรือน้อยกว่า) ต้องการมีบุตรในอนาคต แต่เป็นช็อกโกแลตซีสต์ การผ่าตัดที่เหมาะสมคือ การเลาะถุงน้ำ เป็นต้น การผ่าตัดในปัจจุบันนิยมใช้การผ่าตัดผ่านกล้อง ซึ่งเจ็บปวดน้อยมากระหว่างและหลังการผ่าตัด นอนโรงพยาบาลสั้น และฟื้นตัวไปทำงานได้เร็ว เพียง 1 สัปดาห์ ก็สามารถกลับไปทำงานได้ ซึ่งโรงพยาบาลกรุงเทพใช้การผ่าตัดผ่านกล้องแบบ 3 มิติ ที่ช่วยให้เห็นภาพเสมือนจริง

 

 

Privacy Settings