รู้จักกับหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
หมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท เป็นโรคของความเสื่อมอย่างหนึ่ง ปกติแล้วหมอนรองกระดูกสันหลังมีลักษณะคล้าย โช๊คอัพ อยู่ระหว่างกระดูกสันหลัง มีคุณสมบัติในการยืดหยุ่นรองรับแรงกระแทกที่เกิดจากการใช้งานกระดูกสันหลังในเวลาที่เคลื่อนไหว
เมื่อเราเด็กๆ ภายในหมอนรองกระดูกสันหลังจะมีองค์ประกอบของน้ำเป็นส่วนสำคัญ พอเวลาผ่านไปของทุกอย่างย่อมเสื่อมลง น้ำในหมอนรองกระดูกสันหลังก็ลดลงด้วยเช่นเดียวกัน จึงทำให้ความยืดหยุ่นน้อยลง เมื่อหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทส่วนใดก็จะมีอาการปวดแสดงออกมาตามแนวของเส้นประสาทนั้น
สังเกตอาการหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท ได้ดังนี้
ปวดหลัง ปวดบริเวณเอว เป็นๆ หายๆ
ปวดร้าวลงไปถึงขา น่อง หรือเท้า
เดินได้ไม่ไกล มีอาการปวดชาลงไปถึงขาเหมือนเป็นตะคริวร่วมด้วย ต้องหยุดพัก แล้วจึงจะเดินต่อไปได้
ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง อาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงของขา กระดกข้อเท้าไม่ได้
บางรายอาจมีปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมการขับถ่าย
สาเหตุของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท
หมอนรองกระดูกสันหลัง เป็นโครงสร้างที่ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ โครงสร้างตรงกลาง เรียกว่า นิวเคลียส (Nucleus pulposus) ซึ่งมีน้ำและคอลลาเจน เป็นส่วนประกอบหลัก ส่วนเปลือกของหมอนรองกระดูก (Annulus fibrosus) ซึ่งมีเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่หนา เป็นส่วนประกอบ
สาเหตุของหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาทเกี่ยวเนื่องกับหลายปัจจัย เช่น
- เกิดจากภาวะหมอนรองกระดูกเสื่อม และเกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้าง และหน้าที่ของหมอนรองกระดูกจึงเกิดการแตกปลิ้นทับเส้นประสาท
- เกิดจากอุบัติเหตุทั้งการบาดเจ็บรุนแรง เช่น อุบัติเหตุรถยนต์ ตกจากที่สูง หรือการบาดเจ็บไม่รุนแรง เช่น การเล่นกีฬาบางชนิด
- เกิดจากการใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น การยกของหนักในท่าที่ผิดลักษณะ
นอกจากนี้ ความเสื่อมตามวัยก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยเสี่ยง เพราะด้วยอายุที่มากขึ้นก็มีโอกาสเสื่อมมากขึ้น หากสงสัยว่ามีอาการควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัยถึงสาเหตุและรักษาอย่างถูกวิธี