คนหลายคนมักจะไปหาหมอฟันก็ตอนที่มีอาการปวดฟันแล้ว ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในรักษาโรคในช่องปากมากมาย ทั้ง ๆ ที่ความผิดปกติในช่องปากอย่างโรคฟันผุ หรือโรคเหงือกอักเสบ สามารถรับมือ หรือป้องกันได้ง่าย ๆ ด้วยการเข้ารับการ ตรวจสุขภาพฟัน เป็นประจำทุกปี
ควรตรวจสุขภาพฟันบ่อยแค่ไหน?
1. สำหรับคนทั่วไป ผู้ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพช่องปากหรือฟัน ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพฟันอย่างน้อยทุก 6 เดือนหรือ ปีละ 1 ครั้ง โดยทันตแพทย์จะทำการตรวจเช็กสุขภาพฟันและเหงือก รวมถึงขูดหินปูนและทำความสะอาดช่องปากอย่างล้ำลึก เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดฟันผุและโรคเหงือกอักเสบ
2. สำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงสูง กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคในช่องปาก ควรตรวจสุขภาพฟันบ่อยกว่าคนทั่วไป โดยควรเข้าพบทันตแพทย์ทุก 3-4 เดือนหรือบ่อยตามที่ทันตแพทย์แนะนำ ได้แก่
- ผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำ
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
- ผู้ที่มีประวัติโรคเหงือกหรือฟันผุง่าย
- ผู้ที่มีคราบพลัคสะสมจำนวนมาก
- หญิงตั้งครรภ์
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง หรือผู้ที่รับการรักษาด้วยเคมีบำบัด
สัญญาณเตือนที่ควรรีบพบหมอฟัน
หากมีอาการเหล่านี้ ควรรีบไปพบทันตแพทย์โดยไม่ต้องรอให้ถึงเวลาตรวจสุขภาพฟันประจำปี
- ปวดฟัน จนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน
- เสียวฟัน เมื่อรับประทานของร้อนหรือเย็น
- มีกลิ่นปากเรื้อรัง แม้ดูแลความสะอาดช่องปากแล้ว
- เหงือกบวม แดง หรือมีเลือดออก ขณะแปรงฟันหรือใช้ไหมขัดฟัน
- ฟันโยกหรือหลวม โดยไม่มีสาเหตุ
- ฟันมีโพรงหรือรูสีดำ สัญญาณของฟันผุ
- คราบหินปูนเกาะหนาแน่น ซึ่งอาจเป็นแหล่งสะสมของแบคทีเรีย
ประโยชน์ของการตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำ
1. ป้องกันและตรวจพบปัญหาในระยะแรกเริ่ม การตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำช่วยให้ทันตแพทย์สามารถตรวจพบปัญหาต่าง ๆ ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นฟันผุ เหงือกอักเสบ หรือคราบหินปูน ซึ่งหากตรวจพบเร็วก็จะสามารถรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพและประหยัดค่าใช้จ่าย
2. ลดความเสี่ยงของโรคเหงือกและฟัน หินปูนและคราบพลัคที่สะสมเป็นเวลานานอาจก่อให้เกิดโรคเหงือกอักเสบ หรือโรคปริทันต์ หากปล่อยไว้นานโดยไม่ได้ขูดหินปูน อาจทำให้กระดูกเบ้าฟันละลายจนฟันโยกและหลุดในที่สุด
3. ตรวจติดตามการรักษาและวัสดุอุดฟัน สำหรับผู้ที่เคยอุดฟันหรือทำฟัน ทันตแพทย์จะตรวจสอบว่าวัสดุอุดฟันยังอยู่ในสภาพดีหรือไม่ หรือมีการแตกร้าวที่อาจทำให้เกิดฟันผุซ้ำซ้อนได้
4. ลดโอกาสการสูญเสียฟัน หากดูแลสุขภาพช่องปากอย่างถูกต้องและตรวจสุขภาพฟันเป็นประจำ จะช่วยลดโอกาสสูญเสียฟันก่อนวัยอันควร และยังช่วยให้ฟันแข็งแรงใช้งานได้ยาวนาน
5. ส่งเสริมสุขภาพโดยรวม สุขภาพช่องปากที่ดีสัมพันธ์กับสุขภาพร่างกายโดยรวม เช่น โรคเหงือกอักเสบอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ดังนั้นการดูแลสุขภาพช่องปากจึงเป็นการดูแลสุขภาพโดยรวมไปในตัว