นับเป็นภัยร้ายที่มากับหน้าร้อนและถือเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ กลุ่มที่พบได้บ่อยคือ ในผู้สูงอายุและเด็กเล็ก ซึ่งร่างกายจะไม่สามารถทนกับความร้อนได้มากและนาน ทำให้มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดภาวะลมแดด ซึ่งผู้สูงอายุโดยทั่วไปจะมีโรคประจำตัวหลายโรคและกินยาบางชนิด เช่น ยาลดความดันโลหิต ยาเบาหวานที่อาจก่อให้การระบายความร้อนของร่างกายลดลง ดื่มน้ำน้อย ช่วยเหลือตัวเองได้น้อยและในเด็กเล็กร่างกายจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่จากความร้อนได้ง่ายกว่าในผู้ใหญ่ หากเล่นหรือทำกิจกรรมกลางแจ้งที่มีแดดจัดนานหลายชั่วโมง แม้แต่การเล่นน้ำในสวนน้ำ ซึ่งหากอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นมากกว่า 40 องศาเซลเซียส จะมีผลกับการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท อวัยวะต่างๆ ทำงานล้มเหลว จนทำให้เสียชีวิตได้
การดูแลผู้ป่วยจากภาวะลมแดดเบื้องต้น คือ พาผู้ป่วยไปในที่ร่ม พยายามลดอุณหภูมิร่างกายของผู้ป่วยให้เร็วที่สุดด้วยวิธีการที่หาได้ อาทิ พ่นละอองน้ำร่วมกับเปิดพัดลมเป่าหรือแช่ในน้ำเย็นจะช่วยระบายความร้อนได้ดีที่สุด หากผู้ป่วยมีอาการซึม ชัก ควรรีบเรียกรถพยาบาลเพื่อนำส่งยังสถานพยาบาลอย่างรวดเร็วเพื่อป้องกันภาวะลมแดด คุณพ่อคุณแม่ควรกำหนดเวลาเล่นไม่ให้ลูกอยู่กลางแดดนานเกินไปและให้เด็กดื่มน้ำมากๆ เนื่องจากเด็กมักห่วงเล่นจนลืมดื่มน้ำ
นอกจากนี้หากวูบเป็นลมล้มลงกับพื้นมีโอกาสเสี่ยงที่ศีรษะกระแทกพื้นและอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บที่รุนแรงของสมองโดยเฉพาะในผู้สูงอายุ ผู้บาดเจ็บที่หมดสติชั่วคราว จำเหตุการณ์หลังจากศีรษะฟาดพื้นไม่ได้ ผู้ป่วยที่กินยาละลายลิ่มเลือด หรือยาต้านเกล็ดเลือด หรือมีอาการปวดศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียนมากหลังศีรษะกระแทก ผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงดังกล่าวควรได้รับการตรวจทางรังสีเพื่อประเมินว่ามีภาวะเลือดออกในสมองหรือไม่
ในบางกรณีที่ความเสี่ยงสูงมากอาจต้องได้นอนสังเกตอาการในโรงพยาบาลเป็นเวลา 24 ชั่วโมง แม้ผลตรวจทางรังสีปกติในผู้ป่วยที่มีอาการบาดเจ็บรุนแรงอาจมีอาการแสดงของการบาดเจ็บทางสมองทันที เช่น ซึม เรียกไม่รู้สึกตัว ชัก แขนขาอ่อนแรง ผู้ป่วยกลุ่มนี้ควรได้รับการดูแลและเคลื่อนย้ายจากที่เกิดเหตุอย่างเหมาะสมโดยทีมฉุกเฉิน เพื่อนำส่งยังสถานพยาบาลที่เหมาะสมที่มีศัลยแพทย์ประสาทดูแล หากพบมีเลือดออกในสมองหรือมีภาวะสมองบวม แพทย์อาจต้องทำการผ่าตัดสมองเพื่อลดแรงดันในสมองจากการกดทับเนื้อสมอง เพื่อป้องกันอันตรายต่อผู้ป่วยที่จะทำให้เสียชีวิตหรือพิการตลอดชีวิต
หากผู้ป่วยที่แพทย์ลงความเห็นว่าเป็นการบาดเจ็บที่ศีรษะในระดับไม่รุนแรง ภายหลังได้รับการรักษาเบื้องต้น และแพทย์อนุญาตให้กลับบ้านได้ แต่มีความจำเป็นต้องได้รับการเฝ้าสังเกตอาการเปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิดอีกอย่างน้อย 1 – 2 วัน (อาจจำเป็นต้องเฝ้าดูอาการนานขึ้น ในผู้สูงอายุบางรายอาจเกิดอาการได้หลายสัปดาห์หลังเกิดอุบัติเหตุ) และหากมีอาการผิดปกติเกิดขึ้นต้องกลับมาพบแพทย์โดยเร็ว