โรคต้อกระจก (Cataract)
ต้อกระจก หมายถึง ภาวะที่เลนส์แก้วตามีความขุ่นมัว ซึ่งมีหลายสาเหตุ เช่น จากอายุที่มากขึ้น ยา(เช่น สเตียรอยด์), โรคทางร่างกาย เช่น เบาหวาน, การสูบบุหรี่, โรคติดเชื้อในครรภ์มารดา, อุบัติเหตุ, การอักเสบทั้งจากการติดเชื้อและไม่ติดเชื้อ, การรับรังสี, โรคทุโภชนาการ, โรคทางพันธุกรรมบางอย่าง
อาการโดยทั่วไปของผู้เป็นต้อกระจกคือ
- ตามัวลง ระยะแรกสายตาจะมัวลงช้าๆ เหมือนมีหมอกมาบัง และเริ่มรบกวนการปฏิบัติภารกิจประจำวัน เช่น การขับรถ การอ่านหนังสือ แต่ไม่มีอาการปวดตา อาการตามัวนั้นจะเป็นมากขึ้นเวลามองวัตถุในที่ที่มีแสงจ้า หรือกลางแดด และจะเห็นได้ชัดเจนกว่าในที่ที่มีแสงสว่างน้อยหรือที่สลัว และในบางรายเมื่อมองแสงไฟจากรถที่วิ่งสวนทางมาในตอนกลางคืนจะเกิดตาพร่ามัวหรือภาพซ้อน โดยอาการตามัวนั้นจะค่อยๆ เป็นมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจถึงขั้นมองเห็นเป็นเพียงเงาเคลื่อนไหว
- การเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เป็น "สายตาสั้น" มากขึ้น (myopic shift) คือ การมองไกลจะไม่ค่อยชัด และการมองระยะใกล้จะชัดเจนกว่า พบในต้อกระจกบางประเภท ถ้าทิ้งไว้โดยไม่ได้รักษาด้วยการผ่าตัดอย่างเหมาะสมในระยะเวลาที่สมควรอาจเกิดอาการแทรกซ้อนขึ้น เช่น ปวดตาอย่างรุนแรง และลุกลามกลายเป็นต้อหิน เฉียบพลัน หรือม่านตาอักเสบ ซึ่งถ้ารักษาไม่ทันอาจทำให้สูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดในที่สุด
ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัด (ต้องมีอย่างน้อย 1 ข้อ)
- การมองเห็นลอลงจนเป็นอุปสรรคในการดำรงชีพ โดยคำนึงถึงระดับสายตา ชนิดของต้อกระจก และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยแต่ละราย
- ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากต้อกระจก เช่น ต้อหิน phakomorphic glaucoma, phakolytic glaucoma เป็นต้น
- มีความจำเป็นที่จะตรวจรักษารอยโรคในจอประสาทตาและต้อกระจกบดบังทำให้ไม่สามารถตรวจและรักษาได้