ดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม กินอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนเพียงพอ ควบคู่ไปกับการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
การออกกำลังกาย ก็มีหลากหลายวิธี นับตั้งแต่แบบเบาๆ เดินช้าๆ ต่อเนื่อง เดินเร็วๆ แกว่งแขน ยกขา เต้นแอโรบิก ฯลฯ แล้วก็พัฒนาไปถึงการออกกำลังกายที่มากขึ้น หนักขึ้นไปตามลำดับ ทั้งนี้ทั้งนั้น การออกกำลังกายไม่ใช่ว่าต้องทำตามคนอื่น แต่ควรเลือกที่เหมาะสมกับตัวเอง มีประโยชน์กับร่างกายของตัวเรามากที่สุด
หลักใหญ่มีว่า การออกกำลังกายที่ถูกต้อง จะต้องให้กล้ามเนื้อหลักๆ หรือกล้ามเนื้อชุดใหญ่ได้เคลื่อนไหว เช่น กล้ามเนื้อแขน ขา ท้อง คอ รวมทั้งปอดและหัวใจ เป้าหมายก็เพื่อทำให้กล้ามเนื้อได้ทำงาน เพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อนั่นเอง
ข้อควรระวังระหว่างออกกำลังกายต้องสังเกตตัวเองด้วยว่า หากหัวใจเต้นแรงมาก แรงจนรู้สึกหายใจเหนื่อยจนพูดไม่ไหว ใจหวิวๆ คล้ายจะเป็นลมก็ควรหยุดพัก อย่าหักโหม แม้ว่าการออกกำลังกายควรทำอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ไม่ควรทำอย่างหักโหมแค่ครั้งคราว
ก่อนที่จะออกกำลังกายควรทำการอบอุ่นร่างกายเสียก่อน ใช้เวลา 5-10 นาที เพื่อให้เลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกายได้มากขึ้น เตรียมความพร้อม และหลังจากออกกำลังกายเสร็จแล้วก็ไม่ควรหยุดทันที ควรค่อยๆ ผ่อนลงจนกระทั่งหายใจเป็นปกติ ค่อยหยุดออกกำลังกาย
สำหรับกีฬายอดฮิตใน นักกีฬาฟุตบอล... อาการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่าเกิดได้บ่อยรองจากข้อเท้า และมักจะสร้างปัญหารุนแรง และใช้เวลารักษานานหลายเดือน คำกล่าวที่ว่า เมื่อเกิดการบาดเจ็บเข่าแล้ว ต้องหยุดเล่นหรือหมดอนาคตไปเลยนั้น มีโอกาสน้อยลงมากๆ ในปัจจุบัน
ปัจจุบันความเข้าใจในกลไกของข้อเข่ามีมากขึ้น ทำให้สามารถรักษา แก้ไขปัญหาซึ่งในอดีตแก้ไขไม่ได้หรือได้ผลไม่ดี กลับมาให้ได้ผลดีเลิศ และกลับไปเล่นต่อได้ในระดับเดิมหรือใกล้เคียงเดิม แต่ถึงกระนั้นการป้องกันก็ย่อมดีกว่ารอรักษาเมื่อเกิดการบาดเจ็บขึ้น
สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการปะทะ การบิดของเข่า เมื่อเกิดการปะทะหรือเสียบ การกระโดดหรือรีบยกเท้าขึ้นไม่ให้เท้าเรายันอยู่กับพื้นสนามจะช่วยลดความรุนแรงของการบิดหรือกระแทกนั้นได้ ส่วนการบาดเจ็บที่ไม่ได้เกิดจากการปะทะ ก็มักมีสาเหตุมาจากกล้ามเนื้อที่ตึงไม่ยืดหยุ่นหรือไม่มีความแข็งแรง ทำให้เข่าเกิดการบาดเจ็บ แต่มักเป็นการบาดเจ็บแบบค่อยเป็นค่อยไปหรือสะสมมากกว่าจะเป็นการกระแทกแล้วฉีกขาดเลย
การป้องกันคงต้องกล่าวว่า ทุกองค์ประกอบมีผลทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสภาพพื้นสนาม รองเท้า ทัศนคติของเพื่อนร่วมเล่น ปัจจัยภายในของเข่าเอง ทั้งการบาดเจ็บในอดีต หรือกล้ามเนื้อที่ไม่ยืดหยุ่นแข็งแรงเพียงพอ ปัจจัยเหล่านี้สำคัญในการป้องกันการบาดเจ็บได้เสมอ และไม่ใช่เฉพาะแค่เข่าอย่างเดียว แต่เมื่อเกิดการบาดเจ็บขึ้นแล้ว การดูแลปฐมพยาบาลเบื้องต้น คือให้นอนอยู่นิ่งๆร อคนมาดู อาจเป็นเพื่อนหรือนักกายภาพอย่าเพิ่งพยายามขยับเอง รีบประคบเย็น
เมื่อทิ้งเวลาสักพักให้ลองขยับเข่าด้วยตัวเอง และสังเกตว่าเจ็บบริเวณไหน ลองงอเข่า เหยียดเข่าดู พยายามค่อยๆ ลงน้ำหนัก สังเกตอาการบวมว่าเกิดขึ้นทันทีหรือไม่ หรือมีความรู้สึกมีเสียงดังคล้ายๆ เสียงฉีกขาดของเอ็นในขณะเกิดอุบัติเหตุหรือไม่... สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญเมื่อไปพบแพทย์ แต่ถ้าปวดมากขยับไม่ได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดามด้วยไม้หรืออุปกรณ์ที่มี และพันผ้ายึดให้แข็งแรง ถ้าข้อเข่าผิดรูป บิดเบี้ยว
อย่า! พยายามกด ดัน ดึง หรือปรับให้เข้าที่เอง ให้ดามอยู่ในลักษณะนั้นไปก่อนจนกว่าจะถึงมือแพทย์
การรักษานั้น ขึ้นอยู่กับว่าได้รับการบาดเจ็บส่วนไหน ซึ่งแพทย์เฉพาะทางจะตรวจร่างกาย ซักประวัติ หรือตรวจเอกซเรย์ หรือสแกนเพิ่มเติมต่อไป โดยในเบื้องต้นถ้ามีอาการเข่าบวมทันที มักจะบ่งบอกว่า อาจมีอะไรฉีกขาดในเข่าแล้วมีเลือดออก ซึ่งจากสถิติแล้วกว่า 80% มักเป็น เอ็นไขว้หน้า หรือ ACL (Anterior Cruciate Ligament) ฉีก และกว่า 60% ของเอ็นไขว้หน้าฉีกจะมีหมอนรองกระดูกเข่าฉีกร่วมด้วย
ถ้าเป็นลักษณะดังกล่าว แพทย์มักจะใส่เฝือกอ่อน และให้ยาเพื่อลดการอักเสบประมาณ 1 สัปดาห์ เมื่ออาการบวมและการอักเสบเฉียบพลันลดน้อยลง จึงจะพิจารณาผ่าตัดส่องกล้อง
คำถามสำคัญมีว่า... ทำไมต้องผ่าตัดเลยหรือ?
เนื่องจากเอ็นไขว้หน้าที่ฉีกไปนั้นมีแรงตึงในตัวเอ็น เมื่อฉีกไปแต่ละปลายของเอ็นจะหดตัวห่างจากกันไปเรื่อยๆ ดังนั้นการสมานของเอ็นด้วยตัวเองจึงไม่เกิดขึ้น ในปัจจุบันการผ่าตัดส่องกล้องรักษาทั้งเอ็น หมอนรองกระดูกเข่า กระดูกอ่อนเข่า ฯลฯ ถือเป็นการรักษาที่ได้ผลดี หายเร็ว และทำกายภาพบำบัดฟื้นตัวได้เร็ว โดยผู้ป่วยสามารถงอเข่าได้ตั้งแต่ 24 ชั่วโมงแรก และเริ่มทำกายภาพได้เลย ส่วนการเดินโดยใช้ไม้ค้ำยันก็จะแตกต่างกันไปตามอวัยวะที่บาดเจ็บ