ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงดูทารก

ความเชื่อผิดๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงดูทารก

ความเชื่อ: ใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูป การอุ้มลูกเข้าเอว จะทำให้ขาโก่ง

ความจริง: ขาโก่งไม่ได้เกี่ยวข้องกับการใส่ผ้าอ้อม หรืออุ้มเข้าเอว แต่เกี่ยวกับพันธุกรรมและความผิดปกติทางร่างกาย โดยสรีระกระดูกขาของทารกจะมีลักษณะโค้งงอเล็กน้อย และจะค่อยๆ ยืดตรงขึ้นเรื่อยๆ เกณฑ์ที่จะตัดสินขาโก่งได้นั้นต้องดูหลังอายุหลัง 2 ปีขึ้นไป

ความเชื่อ: ดัดขาลูกเวลาอาบน้ำจะช่วยป้องกันขาโก่ง

ความจริง: การใช้มือดัดขาเป็นครั้งๆ ไม่สามารถสร้างแรงกดกับกระดูกขาได้ อาจเป็นแค่การช่วยยืดเส้นยืดสายให้เด็ก และช่วยทำให้เด็กรู้สึกผ่อนคลาย คล้ายการนวด ไม่ได้ช่วยป้องกันขาโก่งแต่อย่างใด

ความเชื่อ: สัมผัสกระหม่อมทารกจทำให้เกิดอันตรายต่อสมอง

ความจริง: ในภาวะปกติไม่มีความจำเป็นจะต้องจับกระหม่อมทารก แต่หากต้องสำผัสให้สัมผัสได้เบาๆ ไม่เกิดอันตราย ไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไป ทำให้ไม่กล้าจับลูก ธรรมชาติของทารกแรกเกิดกระดูกศีรษะยังไม่เชื่อมติดกันถาวร เพื่อให้โอกาสสมองในการเติบโต ปกติแล้วกระหม่อมทารกส่วนหน้าจะปิดเมื่ออายุ ประมาณ 1ปีครึ่ง-2 ปี และกระหม่อหลังจะปิดเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน

ความเชื่อ: อุ้มลูกเวลาร้อง จะทำให้เด็กติดมือ กลายเป็นเด็กเอาแต่ใจ

ความจริง: ลูกร้องเป็นสัญญาณบอกความต้องการของเด็ก ให้พยายามสังเกต หาสาเหตุของการร้อง ตอบสนองให้ถูกต้องเหมาะสม เพื่อให้เด็กรู้สึกอบอุ่นและปลอดภัย ในช่วง 6 เดือนแรก ทารกสื่อสารความต้องการให้ผู้อื่นรับรู้โดยการร้องไห้เท่านั้นเมื่อได้รับความช่วยเหลือตรงความต้องการ จะสามารถพัฒนาความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้ลี้ยง เกิดความไว้วางใจว่ามีคนคอยดู การร้องไห้จะค่อยๆน้อยลงเรื่อยๆ เติบโตเป็นเด็กที่เลี้ยงง่าย ไม่ได้ทำให้เด็กเสียนิสัย ต่างจากการอุ้มในเด็กโตที่พูดคุยรู้เรื่องแล้ว ร้องไห้เพื่อเรียกร้องความสนใจ

ความเชื่อ: ทารกร้องเสียงเหมือนกันหมด

ความจริง: ทารกจะใช้การร้องเพื่อสื่อสารความต้องการกับผู้เลี้ยง เสียงร้องไห้ เพราะหิว ง่วงนอน ต้องการเปลี่ยนผ้าอ้อม หรือมดกัด เจ็บ ถ้าฟังให้ดีจะมีความแตกต่างกัน ผู้เลี้ยงอาจจะต้องใช้เวลาสังเกตและเมื่อศึกษาสักระยะหนึ่ง จะทำให้สามารถแยกแยะได้ และง่ายต่อการเลี้ยงอีกด้วย

ความเชื่อ: ท้องเสียเพราะเด็กยืดตัว

ความจริง: เด็กช่วงอายุมากกว่า 6 เดือนมีโอกาสเกิดท้องเสีย เนื่องจากสาเหตุดังต่อไปนี้ เริ่มรับประทานอาหารหลากหลายขึ้น ถ้าเป็นอาหารสุกมักไม่เกิดปัญหา ถ้าเป็นอาหารดิบประเภท ผลไม้ อาจมีการปนเปื้อนในขบวนการเตรียม ทำให้ท้องเสียได้  หรือบางครั้งผู้เลี้ยงอาจให้อาหารที่ไม่สะอาด และนอกจากนี้ทารกเริ่มหยิบจับ นำสิ่งของต่างๆเข้าปาก ของบางอย่างอาจไม่สะอาด ในทารกบางคนเลิกดื่มนมแม่แล้ว และเริ่มรับประทานอาหารอ่อน ในบางรายอาจมีอาการแพ้ จึงทำให้เกิดอาการท้องเสียได้ ไม่เกี่ยวกกับการยืดตัว พ่อแม่ควรดูแลลูกอย่างใกล้ชิดเมื่อลูกมีอาการท้องเสีย อย่านิ่งนอนใจคิดว่าเป็นเรื่องปกติ ควรให้น้ำเกลือแร่เพื่อทดแทนการสูญเสียน้ำจากร่างกาย

ความเชื่อ: รถหัดเดินจะทำให้เด็กเดินได้เร็วขึ้น

ความจริง: เด็กเล็กที่อยู่ในรถหัดเดินเวลาจะเคลื่อนที่จะใช้ปลายเท้าจิกลงและไถไปข้างหน้า แต่เวลาเริ่มเดินจริงกลไกการเดินที่ถูกต้องจะต้องใช้ส้นเท้าลงก่อน เด็กที่อยู่ในรถหัดเดินเป็นเวลานาน เมื่อยืนได้ดีแล้ว พร้อมที่จะก้าวเดิน เด็กจะใช้ปลายเท้าจิกลง ทำให้เดินไม่ได้ หรือเดินเป๋ ยิ่งจะทำให้เดินได้ช้าลงกว่าเดิม และเด็กปัจจุบันเติบโตค่อนข้างเร็ว รถอาจพลิกคว่ำ เกิดอันตรายได้

ความเชื่อ: เด็กที่เดินเร็วกว่า หรือพูดได้เร็วกว่าจะเป็นเด็กที่ฉลาดกว่าเด็กกลุ่มอายุเดียวกัน และหากมีพัฒนาการช้าแสดงว่าโง่

ความจริง: การมีพัฒนาการก่อนวัยไม่ได้มีผลทางด้านสติปัญญา หรือการใช้ชีวิตเมื่อโตขึ้นแต่อย่างใด แต่ถ้าหากเด็กมีพัฒนาการที่ช้ามากกว่าปกติ อาจจะต้องตรวจเพื่อหาสาเหตุ ในบางครั้งอาจจะมีความผิดปกติกับร่างกายอื่นๆที่ซ่อนเร้นอยู่ เช่น ทารกเกือบ 2 ขวบแล้วไม่ยอมเดิน ตรวจอาจพบมีสายตาสั้นมากทำให้ การมองเห็นรอบตัวจำกัด ทำให้ขาดการกระตุ้นให้เดินออกไปสำรวจสิ่งต่างๆ หรือ ทารก 2 ขวบยังพูดไม่ได้ อาจตรวจพบว่าทารกมีความผิดปกติทางการได้ยิน หรือหูหนวก

ความฉลาดของเด็กมีหลายมิติ จะตัดสินจากพัฒนาการเพียงอย่างเดียวไม่ได้ และเด็กจะมีการพัฒนาการได้เรื่อยๆ ขึ้นอยู่กับการเลี้ยงดู อาหาร ความมีระเบียบในชีวิต เช่น การนอน และการกระตุ้นพัฒนาการตามหลักพัฒนาการอย่างสมวัย

แหล่งที่มา: 
Privacy Settings