การตรวจไฟฟ้าวินิจฉัย (electrodiagnostic study)
การตรวจไฟฟ้าวินิจฉัย คือการตรวจเส้นประสาทและกล้ามเนื้อด้วยไฟฟ้าที่ปลอดภัย เพื่อใช้ในการวินิจฉัยและพยากรณ์โรคที่เกิดในเส้นประสาทหรือในกล้ามเนื้อ โดยการตรวจนั้นจะประกอบด้วยการตรวจเส้นประสาทสั่งการและการรับความรู้สึกด้วยไฟฟ้า และการใช้เข็มตรวจคลื่นไฟฟ้ากล้ามเนื้อ โดยสามารถตรวจได้ทั้งในผู้ใหญ่และในเด็กที่ให้ความร่วมมือ
ข้อบ่งชี้และประโยชน์ มีอาการชาหรืออ่อนแรงของกล้ามเนื้อแขน ขา ทั้งนี้โรคที่พบบ่อยและแพทย์จะส่งตรวจไฟฟ้าวินิจฉัย เพื่อสนับสนุน ยืนยันการวินิจฉัยเบื้องต้นของแพทย์ คือ
- โรคของบริเวณเซลล์ส่วนหน้าของไขสันหลัง
- โรคของรอยต่อระหว่างเส้นประสาทและกล้ามเนื้อ
- โรคของรากประสาท
- โรคของเส้นประสาทส่วนปลาย
- โรคของกล้ามเนื้อ
การตรวจไฟฟ้าวินิจฉัยมีประโยชน์ในแง่ของการยืนยันตำแหน่งพยาธิสภาพในระบบประสาท ความรุนแรงของพยาธิสภาพ การติดตามอาการ การพยากรณ์โรค และช่วยในการวางแผนการรักษาที่เหมาะสมต่อไปได้
ข้อจำกัด การตรวจไฟฟ้าวินิจฉัยไม่สามารถตรวจโรคที่เกิดจากเส้นประสาทที่มีขนาดเล็กได้ อีกทั้งในกรณีที่แขน ขาบวมมากอาจเป็นอุปสรรคในการตรวจไฟฟ้าวินิจฉัยได้
การเตรียมตัว โดยทั่วไปไม่ต้องเตรียมตัวเป็นพิเศษ ไม่จำเป็นต้องงดน้ำและงดอาหาร ยกเว้นในโรคบางชนิด แพทย์จะให้คำแนะนำในเรื่องงดทานยาบางชนิดก่อนการตรวจ
ขั้นตอนการตรวจ แพทย์จะเริ่มต้นด้วยการซักประวัติ การตรวจร่างกายระบบทั่วไป ระบบเส้นประสาท กำลังกล้ามเนื้อ และการตรวจไฟฟ้าวินิจฉัยโดยใช้เครื่องมือพิเศษ ซึ่งขณะทำการตรวจด้วยไฟฟ้า ผู้ป่วยจะรู้สึกมีไฟฟ้ากระตุ้นที่บริเวณจุดกระตุ้นแต่เป็นไฟฟ้าที่ปลอดภัย ผู้ป่วยไม่ต้องวิตกกังวลแต่อย่างใด อีกทั้งขณะทำการตรวจด้วยการใช้เข็มตรวจที่บริเวณกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บที่ตำแหน่งแทงเข็ม ผู้ป่วยต้องพยายามผ่อนคลายให้มากที่สุด เพื่อให้การตรวจเป็นไปโดยง่าย ทั้งนี้การตรวจจะใช้เวลาทั้งสิ้นประมาณ 1-3 ชั่วโมง ขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของโรคที่เกิดขึ้น
หลังการตรวจ ผู้ป่วยจะสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ในบางรายอาจมีอาการปวดระบมที่ตำแหน่งแทงเข็มเพียงเล็กน้อย ทั้งนี้ผู้ป่วยจะทราบผลการวินิจฉัยได้ทันทีหลังการตรวจเสร็จสิ้น