ไขข้อข้องใจกับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ในคนไข้โรคหัวใจหรือโรคประจำตัวอื่นๆ เช่น เบาหวานและความดันโลหิตสูง
เชื่อว่าหลายๆ ท่านที่มีโรคประจำตัวคงมีความกังวลเรื่องการเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด 19 ว่าควรจะฉีดหรือไม่และมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงมากน้อยเพียงใด เราจะมาไขข้อสงสัยนี้กันครับ
การฉีดวัคซีนโควิดเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสนี้ ซึ่งอาจจะไม่ได้ช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิดได้ทั้งหมด แต่จะช่วยลดความรุนแรงของโรคในกรณีที่มีการติดเชื้อ พูดง่ายๆ คือผ่อนหนักให้เป็นเบาถ้าเกิดติดเชื้อโควิด 19 ขึ้นมา
เนื่องจากการมีโรคประจำตัวอย่างเช่นโรคหัวใจ เบาหวานและความดันโลหิตสูง ทำให้ความรุนแรงในการติดเชื้อโรคโควิด 19 เพิ่มขึ้นมากและอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 3-5 เท่า ดังนั้นการฉีดวัคซีนโควิด 19 จึงมีความจำเป็นอย่างมากที่จะช่วยป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อที่รุนแรง
ในส่วนของผลข้างเคียงในการฉีดวัคซีนโควิด 19 ก็มีการศึกษาออกมาว่าคนที่มีโรคประจำตัวอย่างโรคหัวใจก็ไม่ได้มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงมากกว่าคนทั่วไปแต่อย่างใด ซึ่งโดยสรุปคือโอกาสที่จะได้ประโยชน์จากวัคซีนมากกว่าโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงนั่นเองครับ
จากการศึกษาพบว่าวัคซีนโควิด 19 ไม่มีปฏิกิริยาอันไม่พึงประสงค์กับยาโรคหัวใจ แต่เนื่องจากการฉีดวัคซีนโควิด 19 เป็นการฉีดวัคซีนเข้ากล้ามเนื้อ ยาบางตัวเช่นยาต้านเกล็ดเลือดหรือยาละลายลิ่มเลือดอาจจะมีผลทำให้โอกาสเกิดรอยช้ำหรือเลือดออกในชั้นกล้ามเนื้อได้มากกว่าคนทั่วไป ซึ่งอาจจะต้องกดบริเวณที่ฉีดนานกว่าปกติ ในกรณีที่ใช้ยาวาร์ฟารินควรดูค่าระดับของยา (INR) ล่าสุดว่าไม่ได้สูงเกินไปก่อนฉีดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนคือจ้ำเลือดหรือเลือดออกในชั้นกล้ามเนื้อ
- มีประวัติการแพ้ยา วัคซีน อาหาร สารก่อภูมิแพ้ต่างๆ อย่างรุนแรงหรือจนเป็นอันตรายต่อชีวิต
- มีไข้ในวันที่นัดฉีดวัคซีน
- มีรอยช้ำ หรือจ้ำเลือด หรือเลือดออกผิดปกติ หรือใช้ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดอยู่ เช่น วาร์ฟาริน
- ผู้มีภูมิคุ้มกันต่ำหรือใช้ยากดภูมิคุ้มกันอยู่ เช่น สเตียรอยด์ขนาดสูง ยารักษาโรคมะเร็ง หรือยากดภูมิคุ้มกัน
- อาการข้างเคียงทุกชนิดจากการฉีดวัคซีนชนิดนี้ในเข็มแรก
- ตั้งครรภ์ หรือมีแผนจะตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร