โรคภูมิแพ้ เป็นปฏิกิริยาของร่างกายที่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้นมากกว่าคนปกติ ซึ่งสิ่งกระตุ้นเหล่านี้ไม่ได้เป็นอันตรายต่อคนปกติ ได้แก่ สิ่งกระตุ้นที่อยู่ในอากาศ เช่น ฝุ่น ละอองเกสร เชื้อรา ควันบุหรี่ หรือสิ่งกระตุ้นที่รับประทาน เช่น อาหาร ยา หรือโดยวิธีสัมผัส เช่น ถุงมือยาง สบู่ หรืออาจได้รับโดยการกัดต่อย เช่น ผึ้ง ต่อ แตน เมื่อสารก่อภูมิแพ้เข้าไปในร่างกายจะทำให้ร่างกายเกิดปฏิกริยาที่ตอบสนองมากกว่าปกติ ทำให้ร่างกายหลั่งสารฮีสตามีนและสารที่ก่อให้เกิดการอักเสบ มีผลทำให้เกิดอาการของโรคภูมิแพ้ได้
สาเหตุของโรคภูมิแพ้
เกิดจากกรรมพันธุ์และสิ่งแวดล้อม โดยพบว่า ถ้าพ่อ หรือแม่ เป็นโรคภูมิแพ้ จะทำให้ลูกมีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ประมาณร้อยละ 30-50 แต่ถ้าทั้งพ่อและแม่เป็นโรคภูมิแพ้ จะมีผลให้ลูกมีโอกาส เป็นโรคภูมิแพ้มากขึ้นถึงร้อยละ 50-70 ในขณะที่เด็กที่มาจากครอบครัว ที่ไม่มีประวัติโรคภูมิแพ้เลย มีโอกาสเป็นโรคภูมิแพ้ เพียงร้อยละ 10
อาการของโรคภูมิแพ้
จะมีความหลากหลายมากและมีประวัติชัดเจนว่าเป็นๆ หายๆ ต่อเนื่องเป็นเวลานาน แบ่งอาการออกเป็น 3 ระบบ
- ระบบทางเดินหายใจ คัดจมูก คันจมูก น้ำมูกไหล เฉพาะช่วงอากาศเปลี่ยนแปลง เจอฝุ่นละออง เจอสิ่งที่ระคายเคือง หรือเจอสิ่งที่แพ้ อาจมีอาการคันตา ไอ เมื่อสัมผัสสัตว์ที่แพ้ หากมีอาการที่รุนแรงมากขึ้นอาจจะมีอาการไอร่วมกับอาการหอบเหนื่อย โดยที่จะมีไข้หรือไม่มีก็ได้
- ระบบผิวหนัง
- แบบที่ 1 จะเป็นชนิดที่ค่อนข้างฉับพลัน เรียกว่า ลมพิษ จะมีลักษณะเป็นตุ่ม นูน คัน
- แบบที่ 2 จะเป็นลักษณะเรื้อรัง เรียกว่า ภูมิแพ้ผิวหนังอักเสบ จะมีอาการเป็นผื่นขึ้นบริเวณแก้ม บริเวณแขนขา ผื่นจะมีลักษณะแห้ง คันแดง สาก
- ระบบทางเดินอาหาร ริมฝีปากบวม มีผื่นคันรอบปาก คลื่นไส้ อาเจียน แหวะนมบ่อยในเด็กทารก ท้องอืด ถ่ายเหลว มีมูกเลือดในอุจจาระ
ขั้นตอนการตรวจภูมิแพ้
- คุณหมอทำการซักประวัติ
- ตรวจร่างกาย
- หาสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งเป็นวิธีการที่ช่วยในเรื่องการประเมินและวิเคราะห์โรคภูมิแพ้ เพื่อที่จะหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ได้อย่างถูกต้อง การหาสารก่อภูมิแพ้ วิธีแรกเป็นวิธีการสะกิดผิวหนัง Skin Test หรือวิธีที่สองเจาะเลือดหาสารก่อภูมิแพ้ Blood Test ซึ่งจะสามารถบอกให้รู้ว่าลูกแพ้อะไรบ้างและแพ้มากน้อยแค่ไหน
การดูแลตนเองเบื้องต้น
- รับประทานยาต้านฮีสตามีน เมื่อมีอาการจาม น้ำมูก คันตา คันตัว มีผื่นบวม กรณีที่มีอาการแพ้ชนิดรุนแรง เช่น มีผื่นบวม แน่นหน้าอก หายใจไม่ออก จากการเแพ้อาหาร หรือแมลงต่อย แนะนำให้พกยาฉีดอะดรีนาลีนเพื่อฉีดเข้ากล้ามเนื้อหน้าขา แล้วรีบไปพบแพทย์โดยด่วน
- ลดการสัมผัสต่อสารก่อภูมิแพ้ในบ้าน ด้วยการทำความสะอาดบ้านบ่อยๆ ใช้ผ้าปูที่นอนกันไรฝุ่น เครื่องฟอกอากาศ เอาแหล่งสะสมสารก่อภูมิแพ้ออกจากบ้าน เช่น พรม หนังสือ สัตว์เลี้ยง ควันบุหรี่ หากมีอาการหลังรับประทานอาหารภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง ให้หลีกเลี่ยงอาหารชนิดนั้นก่อน
ควรพบแพทย์เมื่อมีอาการดังต่อไปนี้ได้แก่ ไม่ตอบสนองต่อการใช้ยาต้านฮีสตามีน มีอาการรุนแรง หายใจไม่ออก มีอาการนานเกินสัปดาห์ มีอาการไซนัสหรือหูชั้นกลางอักเสบ ผื่นแห้งตกสะเก็ดหรือแดงแฉะ ท้องเสียเรื้อรัง ปากบวมหน้าบวม
กุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน