เมื่อลูกน้อยเป็นโรคผนังกั้นหัวใจรั่วชนิด ASD

ผนังกั้นหัวใจรั่ว

หัวใจลูกน้อยที่แข็งแรงเป็นอย่างไร

หัวใจของลูกน้อยมีขนาดเล็กมากๆ โดยประมาณว่าเท่ากับกำปั้นเล็กๆ ของลูก หัวใจจะทำหน้าที่สูบฉีดเลือดแดงไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย ขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่รับเลือดดำที่ร่างกายใช้แล้วกลับไปฟอกที่ปอด หัวใจจึงทำงานตลอดเวลา หัวใจปกติประกอบไปด้วย 4 ห้อง คล้ายๆ สี่เหลี่ยมผืนผ้าแบ่งเป็น 4 ส่วน โดย หัวใจ 2 ห้องบนด้านขวาและซ้าย (Atrium) จะเล็กกว่าหัวใจ 2 ห้องล่างด้านขวาและซ้าย (Ventricle) หัวใจด้านขวาจะทำหน้าที่รับเลือดดำที่มีออกซิเจนต่ำ มาจากร่างกายและนำไปฟอกที่ปอด ส่วนหัวใจด้านซ้ายจะรับเลือดแดงที่มีออกซิเจนสูงที่ฟอกจากปอดแล้ว และสูบฉีดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ของร่างกาย

โรคผนังกั้นหัวใจรั่วชนิด Atrial septal defect (ASD) คืออะไร

“โรคผนังกั้นหัวใจรั่ว” เป็นโรคหัวใจแต่กำเนิดที่มีความผิดปกติในการสร้างผนังกั้นหัวใจห้องบนที่ไม่สมบูรณ์ ดังแสดงตามรูป ทำให้เกิดรูรั่วที่ผนังกั้นระหว่างหัวใจห้องบนขวา (Right atrium) และหัวใจห้องบนซ้าย (Left atrium) อาจเป็นรูใหญ่รูเดียวหรือรูเล็กๆ หลายรูคล้ายตาข่าย (fenestration) มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ในอัตราส่วน 2:1

เมื่อเป็นโรคผนังกั้นหัวใจรั่วชนิด ASD จะเป็นอย่างไร

เลือดแดงจากหัวใจห้องซ้ายจะไหลลัดผ่านรูรั่วไปปนกับเลือดดำที่หัวใจห้องขวา ทำให้มีเลือดไปรวมที่ห้องขวามาก โรคนี้จะทำให้หัวใจห้องขวามีขนาดโตมากกว่าปกติ และบีบเลือดส่งไปฟอกที่ปอดปริมาณมากกว่าปกติ ทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอดและหัวใจวายได้ ในช่วงแรกเกิดมักไม่มีอาการหรือตรวจไม่พบความผิดปกติใดๆ แต่อาการจะชัดเจนเมื่อลูกน้อยมีอายุ 2-3 ปีขึ้นไป เนื่องจากหัวใจห้องล่างด้านขวามีความยืดหยุ่นในการขยายตัวรับเลือดได้มากขึ้น

โครงสร้างหัวใจ
โรคผนังกั้นหัวใจรั่วชนิด Atrial septal defect (ASD)
รูปแสดงโรคผนังกั้นหัวใจรั่วชนิด Atrial septal defect (ASD)
(ดัดแปลงมาจาก American Heart Association [Internet]. แผนภาพ วาดโดยแพทย์หญิงประทับใจ นิ่มบริบูรณ์พร)

คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตุอาการผิดปกติของลูกน้อยได้อย่างไร

  • ลูกน้อยจะมีอาการเหนื่อยง่าย ร่วมกับตัวเล็กเลี้ยงไม่โต และมักมีการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่างบ่อยๆ เช่น ปอดติดเชื้อมากกว่า 2-3 ครั้ง/ปี
  • บางครั้งพบว่ามีเด็กบางรายไม่มีอาการผิดปกติ การเจริญเติบโตปกติ อาจไม่ได้รับการวินิจฉัยตั้งแต่แรก และมักมาพบแพทย์ด้วยตรวจพบเสียงฟู่ในหัวใจ (Heart murmur) โดยบังเอิญ

หากสงสัยว่าเป็นโรคผนังกั้นหัวใจรั่วจะได้รับการตรวจอะไรบ้าง

หากสงสัยว่ามีอาการผิดปกติควรมาพบแพทย์เพื่อรับคำแนะนำและตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ได้แก่

  1. ถ่ายภาพรังสีทรวงอก (Chest X-ray) เพื่อดูขนาดของของหัวใจและดูลักษณะของเส้นเลือดในปอดจะพบเงาหัวใจโต และลักษณะเลือดไปปอดเพิ่มขึ้น
    ภาพถ่ายรังสีทรวงอกของผู้ป่วยโรคผนังหัวใจรั่ว
    ภาพถ่ายรังสีทรวงอกของผู้ป่วยโรคผนังหัวใจรั่ว ASD
    แสดงเงาหัวใจโตและเส้นเลือดไปปอดที่เพิ่มขึ้น
  2. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram, ECG) เพื่อบันทึกสัญญาณไฟฟ้าที่ส่งออกมาจากหัวใจ ทำให้ทราบว่าหัวใจหัวใจโตหรือมีหัวใจเต้นผิดจังหวะร่วมด้วยหรือไม่
  3. การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiography) หรือ “เอคโคหัวใจ” คือ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูงผ่านผนังทรวงอกไปยังหัวใจและหลอดเลือด แพทย์ผู้ตรวจจะใช้หัวตรวจวางบนผนังทรวงอก ภาพโครงสร้างหัวใจและหลอดเลือดจะแสดงอยู่บนหน้าจอ การตรวจเอคโคหัวใจไม่ทำให้เกิดความเจ็บปวดและมีความปลอดภัยสูงมาก สามารถช่วยวินิจฉัยโรคหัวใจได้ทุกชนิด

โรคผนังกั้นหัวใจรั่วชนิด ASD รักษาอย่างไรบ้าง

แบ่งการรักษาตามความรุนแรงของโรค ดังนี้

  • ผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย มักเกิดจากรูรั่วขนาดเล็กซึ่งมีโอกาสปิดเองได้มากกว่าร้อยละ 85 เมื่อโตขึ้น แต่อาจต้องได้รับการติดตามและประเมินอาการกับแพทย์อย่างใกล้ชิด
  • ในบางรายที่รูรั่วขนาดใหญ่อาจต้องรักษาด้วยยา
  • ในบางรายรักษาด้วยยาแต่อาการไม่ดีขึ้นหรือมีข้อบ่งชี้ที่อันตราย ต้องได้รับการผ่าตัดหัวใจเพื่อปิดรูรั่ว ซึ่งในปัจจุบันมีการพัฒนาการผ่าตัดรักษาด้วยวิธีต่างๆ รวมถึงการใช้วิธีสวนหัวใจและหลอดเลือดเพื่อใส่อุปกรณ์ปิดรูรั่วได้ โดยพบว่าได้ผลการรักษาที่ดี

การดูแลทั่วไปสำหรับเจ้าตัวน้อยที่เป็นโรคผนังกั้นหัวใจรั่วชนิด ASD

  • รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ หลีกเลี่ยงอาหารรสเค็ม และติดตามการเจริญเติบโตอย่างใกล้ชิด
  • การให้ธาตุเหล็กเสริม เพื่อช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดง
  • แนะนำให้ดูแลรักษาสุขภาพช่องปากและฟันให้สะอาดอยู่เสมอ แนะนำให้พบทันตแพทย์ทุกๆ 6 เดือน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดฟันผุ เนื่องจากจะมีความเสี่ยงในการเกิดการติดเชื้อในหัวใจได้มากกว่าคนทั่วไป
  • แนะนำการรับวัคซีนตามเกณฑ์ และวัคซีนทางเลือก เช่น วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ (influenza vaccine) และวัคซีนนิวโมคอคคัสชนิดคอนจูเกต (PCV)
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่หักโหม
 

พญ.ประทับใจ นิ่มบริบูรณ์พร
กุมารแพทย์โรคหัวใจ

Privacy Settings