นอนกรน นอนหายใจเสียงดัง เสียงครืดคราด เป็นหนึ่งในปัญหาการนอนที่พบได้บ่อยในเด็ก ทั้งเด็กเล็กและเด็กโต โดยเฉพาะในช่วง 2-8 ขวบ ซึ่งสาเหตุหลักของอาการนอนกรนในเด็ก ที่พบได้บ่อย คือ ต่อมทอลซิลและต่อมอะดีนอยด์โต เพราะในช่วงอายุนี้เด็กจะมีการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนได้บ่อยที่สุด ทำให้เกิดการอักเสบและทำให้ต่อมทอลซิลต่ออะดีนอยด์โตขึ้นเรื่อยๆ ส่วนสาเหตุอื่นๆ ที่พบได้ เช่น ภูมิแพ้จมูก โรคอ้วน ผนังกั้นจมูกคด หรือความผิดปกติของโครงสร้างใบหน้าและกะโหลกศีรษะ รวมถึงโรคทางพันธุกรรมต่างๆ
โดยระดับความรุนแรงของโรค มีตั้งแต่การนอนกรนธรรมดา (Primary snoring) จนถึง โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA)
หากลูกมีโรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) จะส่งผลอย่างไรบ้าง?
OSA (Obstructive sleep apnea) ในเด็ก ส่งผลให้เกิดภาวะขาดออกซิเจนในเลือดและออกซิเจนไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ การนอนหลับไม่ต่อเนื่อง มีการลดลงของการหลั่ง Growth Hormone ซึ่ง ส่งผลในด้านต่างๆ ต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ดังนี้
- มีผลต่ออารมณและพฤติกรรม หงุดหงิดง่าย ก้าวร้าว ซุกซนมากผิดปกติ สมาธิสั้น (ADHA)
- ภาวะเลี้ยงไม่โต (Failure to thrive)
- ผลต่อการทำงานของปอดและหัวใจ อาจรุนแรงถึงทำให้เกิด ความดันหลอดเลือดปอดสูง และเกิด ภาวะหัวใจห้องข้างขวาล้มเหลว
วิธีการสังเกตุว่าลูกมีอาการนอนกรน หรือหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่
สังเกตอาการขณะนอนหลับ
- นอนกระสับกระส่าย
- สะดุ้งตื่นบ่อย
- อ้าปากหายใจ
- นอนหายใจเสียงดัง ครืดคราด
บางรายอาจมีอาการแสดงอื่นๆ เช่น
- ปัสสาวะรดที่นอน
- อ้าปากหายใจในเวลากลางวัน
- พูดเสียงอู้อี้ขึ้นจมูกตลอดเวลา
- น้ำมุกไหลเรื้อรัง
- สมาธิสั้น ซุกซนผิดปกติ
- มีอาการง่วงในเวลากลางวันมากผิดปกติ
เมื่อไหร่ก็ตามที่ลูกมีอาการดังกล่าว ผู้ปกครอง ควร สังเกตการนอนอย่างใกล้ชิด เพื่อสังเกตว่ามีอาการ หยุดหายใจระหว่างการนอนหลับร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งเป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาไม่ควรปล่อยไว้เรื้อรัง
อย่างไรก็ตาม อาการหยุดหายใจจะพบได้บ่อยในช่วงที่เด็กนอนหลับสนิท หรือใกล้ๆรุ่งเช้า อาจทำให้การสังเกตของพ่อแม่ ผู้ปกครองคลาดเคลื่อนได้ หากไม่มั่นใจ ควรพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินอาการ โดยอาจถ่ายคลิปวีดีโอช่วงที่มีอาการผิดปกติเพื่อให้แพทย์ได้ประเมินอาการและช่วยในการวินิจฉัยร่วมด้วย
แต่หากลูกมีอาการป่วยจากการเป็นหวัดติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนต้น ก็จะทำให้ทางเดินหายใจบวมและมีอาการเหล่านี้ได้เช่นกัน แต่ถ้าการติดเชื้อทางเดินหายใจดีขึ้น แต่ยังพบอาการเหล่านี้ ควรพบแพทย์ เพื่อตรวจประเมินอีกครั้ง
การวินิจฉัย โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น (OSA) ในเด็ก
การนอนกรนอาจเป็นอันตรายได้ หากการนอนกรนนั้นเกิดร่วมกับภาวะการหายใจที่ลดลงหรือหยุดหายใจในขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea Syndrome)
ดังนั้น สิ่งที่แพทย์จะต้องประเมิน คือ เด็กมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับร่วมด้วยหรือไม่ ซึ่งจำเป็นต่อการตัดสินใจการรักษา โดยแพทย์จะประเมินจาก
- ซักประวัติ
- แบบสอบถามทางการแพทย์เพื่อการคัดกรอง (Pediatric Sleep Questionnaire, Obstructive Sleep Apnea Screening Tool)
- การตรวจร่างกายทางหู คอ จมูก และโครงสร้างใบหน้า
- ภาพถ่ายรังสี ประเมินขนาดต่อมอะดีนอยด์
- การส่องกล้องประเมินทางเดินหายใจส่วนบน
- การตรวจการนอนหลับ (Sleep test)
การตรวจการนอนหลับในเด็ก มีตั้งแต่ประเภทที่ 1, 2 และ 3 โดยมีอุปกรณ์การตรวจ วิธีการตรวจที่มีความซับซ้อนและละเอียดที่ต่างกัน และผลตรวจที่มีความไว ความจำเพาะที่ต่างกัน
การตรวจการนอนประเภทที่ 1 (Attended Polysomnography) เป็นการตรวจมาตรฐานสำหรับการวินิจฉัยภาวะ OSA แต่เนื่องจากข้อจำกัดหลายอย่างในผู้ป่วยเด็ก การตรวจการนอนชนิดนี้จะทำได้ ในโรงเรียนแพทย์ขนาดใหญ่ หรือโรงพยาบาลขนาดใหญ่ที่มีเจ้าหน้าที่เทคนิคด้านการนอนหลับที่เชี่ยวชาญในเด็กโดยเฉพาะ รวมถึง อุปกรณ์ตรวจพิเศษในเด็ก
อย่างไรก็ตาม การตรวจการนอนหลับโดยวิธีอื่นๆ เช่น ประเภทที่ 2, 3 หรือการวัดออกซิเจนจากชีพจรตลอดคืน (Overnight pulse oximetry) สามารถนำมาช่วยคัดกรอง วินิจฉัย และวางแผนการรักษาได้ ในกรณีที่มีข้อจำกัดไม่สามารถส่งตรวจ Full PSG ได้
ซึ่งแพทย์จะตัดสินใจส่งตรวจหรือประเมินแต่ละอย่าง ตามอาการและการตรวจร่างกายที่พบในผู้ป่วยเด็กโดยมีความแตกต่างกันไปในแต่ละราย
การรักษาโรคนอนกรน โรคหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น ในเด็ก
- การรักษาด้วยยา ในกรณีที่ตรวจพบว่ามีต่อมทอลซิลอะดีนอยด์โต หรือ มีภูมิแพ้จมูก ร่วมด้วย และอาการกรนหรือหยุดหายใจขณะหลับไม่รุนแรง แพทย์จะเริ่มให้การรักษาด้วยยา ซึ่งผู้ป่วยเด็กควรได้รับการรักษาด้วยยาอย่างต่อเนื่อง และพบแพทย์ต่อเนื่อง เป็นเวลาอย่างน้อย 4-8 สัปดาห์ เพื่อประเมินผลการรักษาและวางแผนการรักษาต่อไป
- การผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ และทอลซิล (Adenotonsillectomy) เป็นการผ่าตัดรักษาหลักในผู้ป่วยเด็กที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เนื่องจากสาเหตุหลักที่พบในเด็กคือ ต่อมทอลซิลอะดีนอยด์โต โดยพิจารณาใน ผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการ รักษาด้วยยาไม่ได้ผล หรือมีข้อจำกัดในการใช้ยา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กที่ตรวจพบว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับรุนแรงร่วมด้วย มีจำเป็นต้องรีบให้การรักษา ซึ่งมากกว่า 90%พบว่า หลังการผ่าตัดแล้ว อาการนอนกรน หยุดหายใจขณะหลับจะดีขึ้นมากและ ผู้ปกครองพึงพอใจต่อผลการรักษาเป็นอย่างดี
- การรักษาด้วยเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกชนิดต่อเนื่อง (CPAP) ใช้ในผู้ป่วยซึ่งมีการอุดตันของทางเดินหายใจขณะหลับที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น โรคกล้ามเนื้อร่วมประสาท มีโครงสร้างใบหน้ากะโกลกศีรษะผิดปกติ หรือในผู้ป่วยที่ตัดต่อมทอนซิลแล้วยังมีปัญหา หรือในรายที่มีปัญหาสุขภาพทางด้านอื่นไม่สามารถผ่าตัดได้
การนอนกรน และ หยุดหายใจขณะหลับ เป็นอีกหนึ่งความผิดปกติที่พบได้บ่อยในเด็ก และส่งผลต่อเด็กทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ผู้ปกครองควรสังเกตอาการดังกล่าว หากมีอาการผิดปกติตามที่กล่าวหรือไม่มั่นใจในอาการ ควรรีบพาเด็กมาพบแพทย์เฉพาะทาง เพื่อตรวจประเมินอาการ ความรุนแรง หาสาเหตุ และให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไป
พญ.ภัทรมน วิจักขณาลัญฉ์ โสตศอนาสิกแพทย์
อนุสาขา โสต ศอ นาสิก วิทยาการนอนหลับ
และเชี่ยวชาญ หูคอจมูกเด็ก