แผนกหู คอ จมูก

แผนกหู คอ จมูก

บริการแผนกหู คอ จมูก

มีเครื่องมือทางการแพทย์ครบครัน และเทคโนโลยีที่ทันสมัย รวมถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ที่ผ่านการอบรมจากทั้งในและต่างประเทศ สามารถให้การตรวจวินิจฉัยโรคต่างๆ ได้อย่างละเอียดและแม่นยำ อีกทั้งแพทย์และพยาบาลยินดีให้คำปรึกษา และให้บริการอย่างอบอุ่น สะดวกสบาย เป็นกันเอง

มีทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น การผ่าตัดไซนัส การผ่าตัดหู การผ่าตัดเนื้องอก บริเวณลำคอ การผ่าตัด ไทรอยด์ พร้อมให้การดูแล อย่างมีประสิทธิภาพ ให้คำแนะนำ และปรึกษาปัญหาเบื้องต้น ทางโทรศัพท์

การทำงาน ประสานกันเป็นทีม เพื่อวางแผนการรักษา และติดตามความคืบหน้า ของผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง มีการประชุม ทบทวนการให้การรักษาผู้ป่วย เพื่อพัฒนาคุณภาพ การให้การรักษาอยู่เสมอ

อวัยวะบริเวณ หู คอ จมูก ศีรษะและลำคอ เป็นอวัยวะที่ซับซ้อน การตรวจวินิจฉัยโรคต่างๆ จึงจำเป็นต้องการตรวจอย่างละเอียดโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ผสมผสานกับการการเลือกใช้เทคโนโลยีในการตรวจเพิ่มเติมอย่างเหมาะสม และแม่นยำอีกทั้งแพทย์และพยาบาลยินดีให้คำปรึกษา และให้บริการอย่างอบอุ่น สะดวกสบาย เป็นกันเอง ทีมแพทย์ที่เชี่ยวชาญเฉพาะทาง พร้อมให้คำแนะนำ และปรึกษาปัญหา อาทิเช่น

บริการทางด้านหู

  • หูอักเสบ โรคหูน้ำหนวก
  • โรคของหู หูอื้อ
  • มีเสียงผิดปกติในหู
  • การได้ยินเสื่อม
  • สิ่งแปลกปลอมในหู
  • ตรวจการทำงานของหูชั้นกลาง สำหรับนักดำน้ำ, นักบิน
  • ตรวจระบบการทรงตัว
  • การใส่เครื่องช่วยฟังเสียง

บริการทางด้านคอ

  • เจ็บในลำคอ
  • แผลในคอเรื้อรัง
  • เสียงแหบ
  • เนื้องอก และลำคอ บริเวณศีรษะ
  • มะเร็งบริเวณลำคอ
  • มีก้อนผิดปกติบริเวณคอ
  • ต่อมน้ำเหลืองโต
  • ต่อมน้ำลายโต
  • ต่อมไทรอยด์
  • คางทูม

บริการทางด้านจมูก

  • ภูมิแพ้ ไซนัส
  • การผ่าตัดไซนัส
  • นอนกรน

โรคและการรักษา

1. รักษาเลือดกำเดาไหลด้วยการผ่าตัด

ภาวะเลือดกำเดาไหลในผู้ใหญ่ มักมีสาเหตุมาจากความผิดปกติของเส้นเลือดขนาดใหญ่บริเวณส่วนหลังของช่องจมูก อันเป็นผลมาจากโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือเป็นไปตามอายุขัย เลือดกำเดาที่ออก มักออกครั้งละมากๆ ออกทั้งทางด้านหน้าและไหลลงคอ อาจหยุดได้เองชั่วคราว แต่มักจะออกซ้ำถ้าไม่ได้รับการแก้ไขที่สาเหตุ การรักษามาตรฐานที่ใช้กัน คือ การใช้ผ้าก๊อซอัดเป็นชั้นๆ ในช่องจมูก (Anterior Posterior Nasal Packing) เป็นเวลาประมาณ 3-5 วัน วิธีนี้แม้ว่าจะสามารถทำให้เลือดหยุดได้ แต่อาจทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาเรื่องการหายใจ นำไปสู่การมีออกซิเจนในเลือดต่ำ ซึ่งต้องระวังเป็นพิเศษในผู้ป่วยสูงอายุ หรือมีโรคหัวใจขาดเลือดอยู่แล้ว นอกจากนี้ อาจเกิดภาวะติดเชื้อแทรกซ้อนในช่องจมูกได้ ทางเลือกของการรักษาภาวะเลือดกำเดาไหลในผู้ใหญ่ คือ การผ่าตัดโดยใช้กล้องขนาดเล้กเพื่อช่วยในการเข้าไปผูกเส้นเลือดที่มีเลือดออก หากได้ผลจะทำให้เลือดหยุดทันที ไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าอุดในช่องจมูก ผู้ป่วยหายใจและรับประทานอาหารได้ตามปกติ และลดระยะเวลาการพักรักษาตัวในโรงพยาบาลให้สั้นลง การรักษาด้วยวิธีนี้จำเป้นต้องอาศัยเครื่องมือพิเศษ และแพทยืที่ได้รับการฝึกฝนมาโดยเฉพาะเท่านั้น ศูนย์โรคหู คอ จมูกกรุงเทพ มีบุคลากรทางการแพทย์ที่เชี่ยวชาญ และเครื่องมือที่ทันสมัย พร้อมให้การรักษาภาวะเลือดกำเดาไหลด้วยวิธีการผ่าตัด โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีเลือดกำเดาไหลที่

  • เป็นผู้สูงอายุ
  • เป็นโรคหัวใจ
  • ใช้วิธีมาตรฐานแล้วไม่ได้ผล
  • ทนผลข้างเคียงจากวิธีมาตรฐานไม่ได้

2. การตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องมือพิเศษ

  • การตรวจช่องจมูกและลำคอด้วยกล้อง (Nasal Endoscope) เป็นการตรวจภายในช่องจมูก รวมทั้งลำคอบริเวณหลังโพรงจมูก ด้วยกล้องขนาดเล็ก โดยแพทย์และผู้ป่วย สามารถเห็นภาพจากการตรวจ ด้วยจอภาพความละเอียดสูงไปพร้อมๆกัน ทำให้สามารถให้การวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในช่องจมูก เช่น เลือดกำเดาไหล อาการคัดจมูก หวัดเรื้อรัง รวมทั้งตรวจหาพยาธิสภาพบริเวณหลังโพรงจมูก ซึ่งเป็นบริเวณที่พบว่าเป็นมะเร็งบ่อยที่สุด ได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ทำให้สามารถรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป
  • การตรวจกล่องเสียงและหลอดลมส่วนต้นด้วยกล้อง (Fiberoptic Laryngoscope) เป็นการตรวจบริเวณกล่องเสียง และลำคอส่วนล่างด้วยกล้องขนาดเล็ก ซึ่งบริเวณดังกล่าว มักเกิดปัญหาต่างๆ เช่น เสียงแหบ เจ็บคอเรื้อรัง หายใจลำบาก สำลักน้ำ และอาหารเป็นต้น การตรวจด้วยกล้องขนาดเล็ก จะทำให้สามารถให้การวินิจฉัยปัญหาต่างๆ ได้อย่างถูกต้องแม่นยำ โดยปราศจากความเจ็บปวดใดๆ
  • การตรวจช่องหูด้วยกล้อง (Microscope) เป็นการตรวจด้วยกล้องชนิดเดียวกับที่ใช้สำหรับการผ่าตัด ซึ่งมีความคมชัดและมีความละเอียดสูง แสดงภาพเป็นแบบ 3 มิติ ทำให้สามารถให้การตรวจวินิจฉัย และให้การรักษา อาการหูอื้อ การติดเชื้อในหูชั้นนอกและชั้นกลาง ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • การตรวจการได้ยิน (Audiogram and Tympanogram) เป็นการตรวจเพื่อประเมินสภาวะ การได้ยิน และตรวจการทำงานของหูชั้นกลาง หูชั้นใน ในกรณีที่ท่านมีปัญหา หูอื้อ เสียงดังในหู การติดเชื้อในช่องหู อาการเวียนศีรษะบ้านหมุน เป็นต้น
  • การตรวจคลื่นสมองของประสาทหู (Auditory Brainstem Response) เป็นการตรวจสัญญาณไฟฟ้าของการได้ยิน จากหูชั้นในไปยังก้านสมอง ซึ่งสามารถนำมาใช้ประเมินการได้ยินของเด็กเล็ก ที่มีแนวโน้มที่จะมีปัญหาเรื่องการได้ยิน หรือนำมาตรวจวิเคราะห์หาโรคเนื้องอกของประสาทหูได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ในผู้ที่มีการสูญเสียการได้ยิน หรือมีภาวะเสียการทรงตัว ซึ่งอาจเกิดจากเนื้องอกบริเวณดังกล่าวได้
  • อาการเจ็บคอเรื้อรัง กลืนลำบาก ก้อนในช่องปาก ลำคอ หากเป็นนานกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป อาจไม่ใช่การติดเชื้อธรรมดา แต่อาจเป็นอาการระยะแรกของเนื้องอก เนื้อร้าย การตรวจโดยละเอียด รวมทั้งการตรวจพิเศษต่างๆ เช่นการส่องกล้อง การเอ็กซเรย์พิเศษ จะสามารถบอกพยาธิสภาพตั้งแต่ระยะเริ่มต้นได้
  • เสียงแหบ มีสาเหตุมาจากการที่สายเสียงซึ่งอยู่ในกล่องเสียง ปิดเข้าหากันไม่สนิท ซึ่งอาจเกิดจาก กล่องเสียงอักเสบ เนื้องอกบริเวณสายเสียง การตรวจด้วยกล้องขนาดเล็กเพื่อส่องตรวจบริเวณสายเสียง สามารถบอกพยาธิสภาพ ได้อย่างถูกต้อง ปลอดภัย และปราศจากความเจ็บปวดใดๆ ดังนั้น หากมีอาการเสียงแหบนานเกินกว่า 2 สัปดาห์ ควรรีบมาพบแพทย์
  • เสมหะปนเลือด อาจเกิดมาจากการอักเสบ หรือจากเนื้องอก เนื้อร้ายภายในช่องจมูก หลังโพรงจมูก ลำคอ กล่องเสียง รวมทั้งหลอดอาหารส่วนต้น หากมีเสมหะปนเลือดต่อเนื่องกันหลายวัน หรือมีเสมหะปนเลือดบ่อยๆ โดยไม่มีสาเหตุแน่ชัด ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

3. เครื่องช่วยฟัง

ปัญหาเรื่องการได้ยิน เป็นปัญหาที่มักถูกละเลย จากผู้ที่มีความผิดปกติเสมอ ทั้งๆ ที่เป็นปัญหาสำคัญ ปัญหาหนึ่ง เพราะผู้ที่มีความผิดปกติส่วนใหญ่ มักจะไม่มีอาการเจ็บปวด และอาการมักจะเป็นแบบ ค่อยเป็นค่อยไป ทางการแพทย์ถือว่า ผู้ที่มีความผิดปกติ ทางการได้ยิน เป็นความพิการทางร่างกายกลุ่มหนึ่งเลย ในต่างประเทศ มักจะกล่าวว่า Deaf is a silent handicap คือ ผู้ที่พิการ ทางการได้ยิน เป็นความพิการที่ซ่อนเร้นไม่สามารถเห็นได้ ด้วยตาเปล่า เหมือนผู้พิการกลุ่มอื่นๆ นอกเหนือจาก ผู้พิการทางการได้ยิน ที่หูหนวกเลยแล้ว ยังมีกลุ่มที่มีความผิดปกติทางการได้ยิน ตั้งแต่เล็กน้อย จนถึงขึ้นรุนแรง กลุ่มผู้ที่มีความผิดปกติ ทางการได้ยินเหล่านี้ ถ้าพบในเด็ก อาจจะทำให้เด็ก มีพัฒนาการทางภาษาช้า พูดไม่ชัด การเรียนแย่ ในผู้ใหญ่ อาจจะทำให้เกิดปัญหา ในการสื่อสารกับบุคคลอื่น การทำงาน หรือแม้กระทั่ง การดำรงชีพอย่างเป็นสุข ก็จะได้รับผลกระทบ ซึ่งปัญหาเหล่านี้ เป็นปัญหาที่สามารถแก้ไขได้ ปัจจุบัน

เครื่องช่วยฟังแบ่งเป็นหลายประเภท ที่เราคุ้นเคยกันดี คือ แบบกล่อง และแบบทัดหลังหู ซึ่งใช้กันทั่วไป แต่ทั้ง 2 แบบ ยังมีขนาดใหญ่ และมองเห็นได้ชัดเจน ทำให้มีการพัฒนา เครื่องช่วยฟัง จนมีขนาดเล็ก สามารถใส่ในรูหูได้ ซึ่งจะทำให้มองไม่เห็น จากภายนอก จึงทำให้ไม่มีปัญหา เรื่องความสวยงาม นอกจากนี้ยังมีเครื่องช่วยฟังระบบ “ดิจิตอล” ซึ่งมีความคมชัด มากกว่าแบบเดิม และมีความสามารถ ลดเสียงรบกวน อันเป็นสาเหตุสำคัญ ของการไม่ใช้ เครื่องช่วยฟัง เนื่องจากผู้ป่วยรำคาญ ได้อีกด้วย การเลือกเครื่องช่วยฟัง แต่ละประเภทให้เหมาะสม ขึ้นอยู่กับอายุ อาชีพ ความต้องการส่วนบุคคล เนื่องจาก ถ้าเลือกเครื่องช่วยฟัง ไม่เหมาะกับผู้ใช้ จะทำให้ผู้ใช้เครื่องเบื่อ และไม่ค่อยยอมใช้ ทำให้ผู้มีความผิดปกติ ทางการได้ยิน ไม่ได้รับประโยชน์สูงสุด จากเครื่องช่วยฟังนั้นๆ ในปัจจุบัน ศูนย์หู คอ จมูก รพ.กรุงเทพ มีการให้บริการ ตรวจหาความผิดปกติ ทางการได้ยิน ได้ตั้งแต่วัยเด็ก จนถึงผู้สูงอายุ และสามารถให้การฟื้นฟู สมรรถภาพทางการได้ยิน ให้กับผู้ที่มีความผิดปกติ ทางการได้ยิน โดยการใส่ เครื่องช่วยฟัง ที่เหมาะสม โดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ดังนั้น ถ้าท่านพบว่า บุคคลรอบตัวท่าน เริ่มมีความผิดปกติ ทางการได้ยิน โปรดอย่ารอ จนเขาเหล่านั้น ไม่สามารถจะให้การแก้ไข หรือฟื้นฟูสมรรถภาพ ทางการได้ยินได้ รีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับการตรวจ และฟื้นฟูสมรรถภาพ ก่อนจะสายเกินไป

หมายเหตุ
  • เปิดบริการทุกวัน จันทร์ - อาทิตย์ เวลา 08.00 -17.00 น. (ยกเว้น แก้ไขการได้ยินและใส่เครื่องช่วยฟัง)
  • นักแก้ไขการได้ยิน บริการเฉพาะ วันเสาร์ เวลา 09.00 -16.00 น. (ปรึกษานอกเวลาทำการได้ถ้ากรณีใส่ Hearing Aid เร่งด่วน)

แพทย์และผู้เชี่ยวชาญ

แผนกให้บริการและคลินิก

Privacy Settings