การให้วัคซีนภูมิแพ้ คือการให้สารก่อภูมิแพ้ที่คนไข้แพ้เข้าไปสู่ร่างกาย เริ่มจากปริมาณน้อย และเพิ่มปริมาณขึ้นจนถึงขนาดที่ใช้ในการรักษา โดยให้ซ้ำๆ อย่างสม่ำเสมอ ส่งผลให้การตอบสนองทางภูมิคุ้มกันของร่างกายต่อสารก่อภูมิแพ้ชนิดนั้นลดลงและร่างกายทนต่อสารก่อภูมิแพ้ได้มากขึ้น
วัคซีนภูมิแพ้ สามารถให้ในผู้ใหญ่และเด็กอายุ 5 ปี เป็นต้นไป
ใครเหมาะสมกับการรักษาด้วยวัคซีนภูมิแพ้
- ผู้ป่วยจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic rhinitis) โรคเยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ (Allergic conjunctivitis) โรคหืดจากภูมิแพ้ (Allergic asthma) พิจารณาดังนี้
- ผู้ที่มีอาการมากจนรบกวนชีวิตประจำวัน
- ผู้ที่ไม่สามารถควบคุมอาการของโรคจากการรักษาด้วยยาเพียงอย่างเดียว ผู้ที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา
- ผู้ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่ตนแพ้ได้
- ผู้ที่มีผลข้างเคียงจากการใช้ยาควบคุมอาการ
- ผู้ป่วยที่มีความต้องการไม่อยากใช้ยาควบคุมอาการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะยาวนาน
- การแพ้แมลงชนิดรุนแรง (Hymenoptera anaphylaxis) ได้แก่ ผู้ที่โดนแมลงชนิดผึ้ง ต่อแตน หรือมดคันไฟต่อย แล้วมีอาการแพ้รุนแรง เช่น หมดสติ หายใจไม่ออก หน้าบวม มีผื่นทั้งตัว เนื่องจากผู้ป่วยเหล่านี้หากโดนต่อยซ้ำอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
- โรคผื่นภูมิแพ้ทางผิวหนัง (Atopic dermatitis) ที่มีอาการปานกลางถึงรุนแรงที่พบว่ามีการแพ้สารก่อภูมิแพ้ทางอากาศ เช่น ไรฝุ่น
ผู้ป่วยทุกราย ต้องทำการทดสอบหาสารก่อภูมิแพ้ก่อนด้วยวิธีเจาะเลือด หรือทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง (skin prick test) หากผลการทดสอบเป็นบวกคือขึ้นต่อสารก่อภูมิแพ้ จึงจะสามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้
ขั้นตอนการรักษาการให้วัคซีน
มี 2 วิธี คือ วิธีฉีด (SCIT) และวิธีอมใต้ลิ้น (SLIT)
- วิธีฉีด (SCIT) ในระยะแรกต้องฉีดทุกสัปดาห์ หลังจากนั้นค่อยๆฉีดห่างขึ้นเป็นทุกเดือน จนครบ 3-5 ปี ซึ่งการรักษาด้วยวิธีนี้สามารถทำได้ในเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป และต้องฉีดวัคซีนในโรงพยาบาลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น หลังฉีดต้องสังเกตอาการอย่างน้อย 30 นาที
- วิธีอมใต้ลิ้น (SLIT) ต่อเนื่องทุกวันเป็นเวลา 3-5 ปี โดยควรสังเกตอาการในโรงพยาบาลในครั้งแรกที่เริ่มใช้ยา หลังจากนั้นสามารถไปรับประทานที่บ้านได้ ในประเทศไทย มีวัคซีนชนิดอมใต้ลิ้นสำหรับผู้ที่แพ้ไรฝุ่น สามารถใช้ได้ในผู้ป่วยอายุ 12 ปีขึ้นไป
ข้อดี
- แก้ไขตรงจุดที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย
- หากตอบสนองต่อวัคซีน อาการภูมิแพ้มักจะดีขึ้นภายใน 3-6 เดือน
- ลดการใช้ยาหรือหยุดยาภูมิแพ้ได้
- ลดการเกิดโรคหืดในรายที่เป็นโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้
- ลดการแพ้สารก่อภูมิแพ้อื่นๆ เพิ่มในอนาคต
- ถ้ารักษาครบ 3-5 ปี ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักไม่มีอาการภูมิแพ้ไปได้อีกนานหลายปี
ผลข้างเคียง
- อาการแบบเฉพาะที่ เช่น บวม แดง บริเวณที่ฉีด หรือคันในช่องปากกรณีอมใต้ลิ้น
- อาจทำให้เกิดอาการแพ้ทั่วร่างกายเกิดได้น้อยกว่า 1% ดังนั้นทุกครั้งที่ฉีด แพทย์จะสังเกตอาการอย่างน้อย 30 นาที
- อาจเกิดอาการของโรคภูมิแพ้ที่ผู้ป่วยเป็นอยู่แล้วมากขึ้นในช่วงแรก เช่น จาม คัน คัดจมูก
โดย พญ.ศศิกานต์ ซื่อศิริสวัสดิ์
ชำนาญพิเศษ: กุมารเวชศาสตร์ (Pediatrics)
เฉพาะทาง: กุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน (Pediatric Allergy and Immunology)
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และนัดหมายได้ที่ แผนกกุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพขอนแก่น
โทร:043-042717