เริ่มฝากครรภ์อย่างไรให้เหมาะสม

เริ่มฝากครรภ์

สาวๆ เคยสงสัยกันไหมคะว่าทำไมเวลาเราเป็นคุณแม่ตั้งครรภ์ เราจึงต้องไปฝากครรภ์กันด้วย เราควรฝากครรภ์ที่ไหน เมื่อไหร่ ยังไงดี วันนี้คุณหมอจะมาเล่าให้ฟังค่ะ

ฝากครรภ์เพื่ออะไร ?

จุดมุ่งหมายของการฝากครรภ์ คือ เพื่อส่งเสริมสุขภาพของมารดา และทารกในครรภ์ให้มีสุขภาพที่ดี คอยเฝ้าระวังและคัดกรองความเสี่ยงต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคุณแม่ตั้งครรภ์และทารกในครรภ์ รวมถึงทำการป้องการและแก้ไขอย่างทันท่วงที เพื่อให้การตั้งครรภ์นั้นสามารถลุล่วงจนกระทั่งครบกำหนดและผ่านการคลอดได้อย่างสมบูรณ์ปลอดภัย

ควรเริ่มฝากครรภ์เมื่อไหร่ดี ?

เริ่มฝากครรภ์เมื่อไหร่ดี เป็นคำถามที่มักจะได้รับการสอบถามเข้ามาบ่อยๆ วันนี้มีคำตอบค่ะ การฝากครรภ์ที่ดีที่สุดควรเริ่มเมื่อทราบว่าตั้งครรภ์ หรือตั้งครรภ์ไม่เกิน 12 สัปดาห์เมื่อนับจากวันแรกของประจำเดือนครั้งสุดท้าย หรือเข้าใจง่ายๆ คือตั้งครรภ์ไม่เกิน 3 เดือนนั่นเอง

ฝากครรภ์เร็วดีอย่างไร ?

การฝากครรภ์เร็วตั้งแต่อายุครรภ์ยังน้อยมีประโยชน์อยู่หลายประการ เช่น

  1. ทำให้แพทย์สามารถตรวจหาโรคหรือความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อการตั้งครรภ์ และให้คำปรึกษาแก้ไขได้อย่างทันท่วงที
  2. สามารถกำหนดอายุครรภ์ที่แม่นยำ เพื่อวางแผนกำหนดคลอดที่เหมาะสม
  3. สามารถตรวจดูว่าเป็นการตั้งครรภ์ปกติในมดลูกหรือไม่ โดยถ้าเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูกอาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อหญิงตั้งครรภ์ได้ซึ่งคุณหมอจะได้ให้คำแนะนำที่เหมาะสมต่อไป
  4. เพื่อให้ไม่พลาดโอกาสในการตรวจบางอย่างที่อาจทำได้ในบางช่วงอายุครรภ์ เช่น การตรวจหาภาวะดาวน์ซินโดรมของทารกในครรภ์
  5. เพื่อให้ได้รับวิตามินบำรุงและวัคซีนที่เหมาะสม

เตรียมตัวไปฝากครรภ์ครั้งแรก

การเตรียมตัวไปฝากครรภ์ครั้งแรกไม่มีอะไรน่ากลัวเลยค่ะ สิ่งที่คุณแม่ควรคำนึงถึง คือการเลือกคุณหมอสูติแพทย์คู่ใจสักคน และเลือกสถานพยาบาลที่ไว้วางใจได้ มีความพร้อมทั้งทางด้านสูติแพทย์ และกุมารแพทย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ท่านไหนที่มีโรคประจำตัว ยิ่งต้องเลือกสถานพยาบาลที่มีความพร้อมในการดูแลเป็นพิเศษ โดยสามารถเข้าไปปรึกษาแพทย์ในสถานพยาบาลที่สนใจเพื่อให้คุณหมอทำการประเมินและให้คำปรึกษาก่อนได้

สำหรับสิ่งที่คุณแม่ควรนำติดตัวไปด้วย คือสมุดฝากครรภ์หรือประวัติการตั้งครรภ์ครั้งก่อน ประวัติการรักษาโรคประจำตัวต่างๆถ้ามี ประวัติการใช้ยาหรือยาที่ใช้ในปัจจุบัน ทบทวนประวัติประจำเดือนของตัวเองโดยสิ่งที่คุณหมอต้องถามอย่างแน่นอนคือ ประวัติประจำเดือนวันแรกของรอบประจำเดือนครั้งสุดท้าย เนื่องจากคุณหมอจะนำมาใช้คำนวณอายุครรภ์ แต่ถ้าคุณแม่ท่านไหนจำไม่ได้ก็ไม่ต้องกังวลใจไปค่ะ สามารถแจ้งคุณหมอที่ดูแลได้เลย คุณหมอจะทำการตรวจอัลตร้าซาวน์เพื่อดูอายุครรภ์ที่แน่นอนให้อีกครั้ง

รู้อย่างนี้แล้ว ตั้งครรภ์เมื่อไหร่รีบไปฝากครรภ์กันเถอะนะคะ คุณหมออยากเจอค่ะ สำหรับในบทความหน้าหมอจะเล่าให้ฟังกันต่อ ว่าฝากครรภ์แต่ละครั้งคุณหมอจะดูอะไรกันบ้าง รวมการดูแลตัวเองของคุณแม่ตั้งครรภ์ในแต่ละช่วงควรทำอย่างไร สามารถติดตามได้ในบทความต่อไปค่ะ

 

พญ.ศุภศิริ หะยะกังฉัตร์
แพทย์เวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
 
Privacy Settings