วิธีดูแลแก้ไข ห่างไกลลมพิษ

ลมพิษ

ผื่นลมพิษ คือ ผื่นที่มีอาการคัน บวม ปื้นนูนแดง มีขอบชัดเจนอาจที่บริเวณส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายหรือกระจายตัวทั่วตัว มีขนาดเล็กใหญ่ไม่เท่ากันไม่มีขุย อาการผื่นคันมักขึ้นๆยุบๆ และอาจหายได้เองภายใน 24 ชั่วโมง

ผื่นลมพิษ แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิดได้แก่

  • ลมพิษชนิดเฉียบพลัน (Acute urticaria) เป็นลมพิษชนิดที่มีอาการต่อเนื่องไม่เกิน 6 สัปดาห์ ส่วนใหญ่สามารถหายได้ภายใน 1 สัปดาห์ และมีบางส่วนที่จะกลายเป็นลมพิษเรื้อรัง
  • ลมพิษชนิดเรื้อรัง (Chronic urticaria) เป็นลมพิษชนิดที่มีอาการต่อเนื่องมากกว่า 6 สัปดาห์ และมีอาการอย่างน้อย2ครั้งต่อสัปดาห์

ปัจจัยและสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคลมพิษ

  1. อาหาร เช่น อาหารทะเล สารกันบูด สีผสมอาหารบางชนิด
  2. สารก่อภูมิแพ้ในอากาศเช่นไรฝุ่น สุนัข แมว แมลงสาบ เกสรหญ้า
  3. การติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัส แบคทีเรีย เชื้อรา 
  4. ระบบต่อมไร้ท่อ เช่น โรคต่อมไทรอยด์
  5. อิทธิพลทางกายภาพ เช่น การตอบสนองผิดปกติต่อความร้อน ความเย็น น้ำหนักกดรัด แสงแดด หรือการออกกำลังกาย
  6. แพ้สารที่สัมผัส เช่น ขนสัตว์ พืช หรืออาหารบางชนิด 
  7. แพ้พิษแมลง เช่น ปฏิกิริยาที่เกิดจากผึ้งหรือต่อต่อย
  8. ความเครียด ความวิตกกังวล
  9. การพักผ่อนไม่เพียงพอ ภาวะภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ
  10. ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งพบเป็นส่วนใหญ่ 

แนวทางการตรวจเพื่อหาสาเหตุ

  • ซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียด
  • ตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังโดยวิธีสะกิด (skin prick test) และ การเจาะเลือดหาสารก่อภูมิแพ้ (specific IgE) 

การรักษา

  • ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) ช่วยลดความรุนแรงของอาการคัน บวม แดง และลดอาการภูมิแพ้อื่น ๆ
  • วัคซีนภูมิแพ้ (Allergen immunotherapy) ในผู้ที่มีอาการลมพิษชนิดเรื้อรัง และมีอาการแพ้ต่อสารก่อภูมิแพ้บางชนิดเช่นไรฝุ่น หญ้า สุนัข แมว
  • ยากดภูมิคุ้มกัน (Immunosuppressant) ในผู้ที่อาการไม่ดีขึ้น หรือลมพิษเรื้อรังที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาต้านฮีสตามิน
  • ยาต้านการอักเสบ (Anti-inflammatory medications) สำหรับผู้ที่อาการลมพิษชนิดรุนแรง อาจพิจารณาให้ยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids drug) 
  • ยากลุ่มชีวโมเลกุล (Biologics) โดยแพทย์จะใช้ยากลุ่มนี้เฉพาะผู้ป่วยลมพิษเรื้อรังที่ไม่ตอบสนองกับการรักษาพื้นฐาน

การดูแลเมื่อเป็นลมพิษเรื้อรัง

  • เลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้ผื่นกำเริบ
  • กินยาตามคำแนะนำของแพทย์ ไม่ควรหยุดกินยาด้วยตัวเอง
  • ไม่เกาที่ผิวหนัง แและตัดเล็บให้สั้นอยู่เสมอ
  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ไม่นอนดึก
  • หากิจกรรมผ่อนคลายเพื่อลดความเครียด
  • ทานวิตามินเสริมเช่นวิตามินดีสาม


โดย พญ.ศศิกานต์ ซื่อศิริสวัสดิ์
ชำนาญพิเศษ: กุมารเวชศาสตร์ (Pediatrics)
เฉพาะทาง: กุมารเวชศาสตร์โรคภูมิแพ้และภูมิคุ้มกัน (Pediatric Allergy and Immunology)


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม และนัดหมายได้ที่ แผนกกุมารเวช โรงพยาบาลกรุงเทพขอนแก่น
โทร:043-042717

Privacy Settings